ในวัยทำงานย่อมมีช่วงเวลาที่ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่องจนไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบทั้งกับตนเองและคุณภาพของงานได้ ดังนั้น การวางแผนการพักผ่อนจึงมีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นวิธีบริหารเวลาที่ช่วยให้เกิด Work-Life Balance หรือความสมดุลในการใช้ชีวิต และช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ หากทำงานหนักเพียงอย่างเดียว จนไม่มีการพักผ่อนหรือวางแผนการพักผ่อนที่เพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ และอาจเกิดความเสี่ยงในการเป็น ภาวะ Burnout Syndrome หรืออาการหมดไฟในการทำงาน ตามมาได้
สำหรับใครที่สงสัยว่า การวางแผนการพักผ่อนมีประโยชน์อย่างไร? และจะสามารถเลือกกิจกรรมใดได้บ้าง? บทความนี้จะแนะนำตัวอย่างกิจกรรม พร้อมตัวช่วยในการวางแผน จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
การวางแผนพักผ่อนมีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
การพักผ่อน หมายถึง การหยุดพักหรือละเว้นจากการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสลดความเหนื่อยล้าจากกิจวัตรประจำวัน สำหรับวัยทำงานที่มีกิจกรรมมากมายระหว่างวัน การวางแผนการพักผ่อน ถือเป็นอีกเคล็ดลับในการดูแลสุขภาพที่ช่วยเสริมให้สุขภาพร่างกายและจิตใจมีความสมบูรณ์พร้อม โดยประโยชน์ของการวางแผนการพักผ่อน มีดังนี้
- ช่วยให้ระบบร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ และมีประสิทธิภาพ
- ช่วยให้มีตารางชีวิตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- ช่วยให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่น โรคอ้วน ภาวะซึมเศร้า และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
5 กิจกรรมพักผ่อนที่วัยทำงานสามารถทำได้ทุกวัน
สำหรับวัยทำงานที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกกิจกรรมพักผ่อนอย่างไร ในส่วนนี้ได้รวบรวม 5 กิจกรรมพักผ่อนที่ง่ายต่อการผ่อนคลายและสามารถทำได้ในทุกวัน รวมถึง ประโยชน์ของแต่ละกิจกรรม ดังนี้
1. นอนหลับพักผ่อน
การนอนหลับให้เพียงพอเป็นการพักผ่อนที่สำคัญมากสำหรับทุกคน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้หยุดพักจากทุกกิจกรรม ซึ่งจะช่วยขจัดความเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจได้ รวมถึง ช่วยให้ระบบร่างกายได้ปรับสมดุลให้เป็นปกติ และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติต่างๆ เช่น ปัญหาหลงลืมง่าย ปัญหาสุขภาพผิว และการติดเชื้ออื่นๆ นอกจากนี้ การนอนหลับยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำปฏิบัติงานในครั้งต่อไปได้อีกด้วย
ก่อนนอนหลับพักผ่อนควรทำอย่างไร?
เพื่อเสริมให้นอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ควรปรับพฤติกรรมและปฏิบัติตามวิธีทำให้นอนหลับง่าย ซึ่งมีดังนี้
- จัดเวลาในการนอนหลับให้เหมาะสม โดยวัยทำงานควรนอน 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
- จัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสม เช่น มีแสงน้อย และมีอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย และสะอาด เช่น เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือผ้าซาตินที่มีเนื้อบาง และระบายอากาศได้ดี
- ดื่มนมหรือน้ำเปล่าก่อนนอน เพราะในน้ำนมมีสารเมลาโทนินเป็นสารที่ช่วยให้นอนหลับได้สนิท ส่วนน้ำเปล่าสามารถช่วยกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในระหว่างนอนหลับได้
- อาบน้ำ หรือแช่น้ำอุ่นก่อนนอน เพราะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้ แต่หากไม่สะดวกแช่ทั้งตัว สามารถแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นแทนได้ เพื่อให้ผ่อนคลายและนอนหลับได้ดีขึ้น
H4: วิธีการวางแผนและการจัดเวลาในการพักผ่อน
ระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมมีความแตกต่างตามความต้องการของร่างกายในแต่ละช่วงวัย จากข้อมูลของ National Sleep Foundation เวลาที่ใช้ในการนอนหลับที่เหมาะสมกับวัยทำงาน ซึ่งจะมีอายุระหว่างหนุ่มสาว (18-25 ปี) และวัยผู้ใหญ่ (26-64 ปี) คือ ควรนอนวันละ 7-9 ชั่วโมง
ในการจัดเวลาสำหรับการนอนหลับพักผ่อน จำต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ในวันที่ไปทำงาน ต้องเผื่อเวลาสำหรับการเดินทาง และการทำงานระหว่างวันด้วย โดยการจัดเวลาในการพักผ่อน สามารถกำหนดเป็นตารางเวลา ที่ระบุกิจวัตรที่ทำได้ เช่น วันจันทร์ถึงวันศุกร์ หลังกลับจากการทำงาน อาจใช้ช่วงเวลา 20.00–21.30 น. ในการทำกิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆ อย่างการดูละคร หรือฟังเพลง จากนั้นนอนหลับพักผ่อนในเวลา 22.00–06.00 น. เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงวันหยุดอาจปรับเปลี่ยนตารางกิจกรรมให้เหมาะสมกับกิจวัตรของแต่ละคนได้
2. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย คือ การเคลื่อนไหวร่างกายหรือกระตุ้นให้ร่างกายทำงานมากกว่าภาวะปกติ แต่เป็นไปอย่างมีระบบ ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ระบบร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ และเสริมภูมิคุ้มกัน รวมถึง ยังทำให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) และเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งสร้างความสุข และผ่อนคลายความเครียดได้ ช่วยเสริมให้ร่างกายนอนหลับพักผ่อนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหลายผลวิจัยรองรับว่า การออกกำลังกายสามารถช่วยให้อายุยืนยาวเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 1-1.5 ปีเลยทีเดียว
สำหรับใครที่ไม่อยากออกกำลังกายหนักๆ สามารถเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เน้นการเคลื่อนไหวช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการกำหนดลมหายใจได้ เช่น โยคะ หรือไทเก๊ก ถือเป็นตัวเลือกที่ดีในการผ่อนคลายร่างกายได้เช่นกัน
H4: ก่อนเริ่มต้นออกกำลังกายควรทำอย่างไร?
หากคุณอยากเลือกการออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งวิธีการพักผ่อน การทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถออกกำลังกายได้ทุกวัน โดยไม่รู้สึกเบื่อ และยังได้ประโยชน์สูงสุดอีกด้วย โดยมีดังนี้
- สำรวจสุขภาพของตนเอง เพื่อให้ทราบข้อจำกัดทางด้านร่างกาย และยังช่วยในการตัดสินใจเลือกชนิดของการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพร่างกายของตนเองอีกด้วย
- กำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย โดยควรกำหนดให้มีความหลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย และได้บริหารร่างกายทุกส่วน รวมถึง ยังช่วยให้สามารถเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น และประเมินการออกกำลังกายของตนเองได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
- ออกกำลังกายโดยยึดหลัก 4 พ. ได้แก่ บ่อยพอ หนักพอ นานพอ และพอใจ
- คำนึงถึงข้อควรระวังในการออกกำลังกายเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บระหว่างออกกำลังกายรูปแบบนั้นๆ
วิธีการวางแผนและการจัดเวลาในการออกกำลังกาย
การวางแผนในการออกกำลังกาย สามารถทำได้โดยจัดตารางออกกำลังกายในแต่ละวัน และกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น วันจันทร์และวันพุธเน้นการออกแบบแอโรบิก จึงเลือกวิ่งจ็อกกิงหรือว่ายน้ำ วันอังคารเน้นส่วนแขน จึงเลือกการยกดัมเบลล์ หรือวันพฤหัสบดีเลือกการออกกำลังกายที่เคลื่อนไหวช้าๆ จึงเลือกโยคะก่อนนอน เป็นต้น
โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที หรืออาจขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ทั้งนี้ ก่อนออกกำลังกายควรอบอุ่นร่างกาย 5-15 นาที และหลังจากออกกำลังควรยืดกล้ามเนื้อ 5-15 นาทีด้วยเช่นกัน เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อม และช่วยลดโอกาสบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้
3. ทานอาหารที่มีประโยชน์
ในความเป็นจริง การกินอาหารที่ชอบสามารถช่วยในการพักผ่อนได้ เพราะทำให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินจากความพึงพอใจ ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียดได้ ทั้งนี้ พฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือในปริมาณที่มากเกินความต้องการ ก็สามารถก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้เช่นกัน ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดี จึงต้องปรับพฤติกรรมการกินอาหารให้เหมาะสม โดยควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้ง ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อสุขภาพที่ดีอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารและสามารถดูดซึมในระบบต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น
สำหรับใครที่มีปัญหาการนอนพักผ่อน สามารถเลือกกินอาหารบางชนิดที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอนได้ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาแซลมอน หรือชาดอกคาโมมายล์ เป็นต้น
H4: ก่อนเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ควรทำอย่างไร?
ในการวางแผนพักผ่อนด้วการเลือกกินอาหาร จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ เพื่อที่จะสามารถเลือกเมนูอาหารที่ทั้งถูกปาก และมีประโยชน์ต่อร่างกายไปควบคู่กัน ซึ่งสิ่งที่ควรสำรวจตัวเอง มีดังนี้
- ศึกษาว่าร่างกายมีปัญหาอะไร จะช่วยให้รู้ว่าตนเองกำลังขาดสารอาหารประเภทไหน และควรกินอะไรเพิ่มเติมบ้าง เช่น มีปัญหาเลือดออกตามไรฟัน อาจเกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินซี ควรกินผลไม้รสเปรี้ยว หรือรู้สึกอ่อนเพลีย และผิวแห้งกร้าน อาจเกิดจากการขาดไขมัน ควรกินอาหารที่ให้ไขมันดีอย่างปลาแซลมอน อกไก่ และไข่ต้ม
- คำนึงถึงคุณค่าอาหารต่อสุขภาพควบคู่กับความถูกใจ แม้อาหารที่ถูกปากจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินได้ แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะและพอดี เพื่อไม่ให้มีปัญหาสุขภาพตามมา
- หากมีอาการแพ้อาหาร ควรเลือกทานอย่างระมัดระวัง แม้อาหารบางชนิดจะมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาแพ้อาหารประเภทนั้นๆ ควรหลีกเลี่ยงอย่างเคร่งครัด โดยควรเลือกรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารแบบเดียวกันแทน เช่น หากคุณแพ้นมโค อาจเลือกนมถั่วเหลือง และเนื้อสัตว์อื่นๆ เพื่อให้ได้รับโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน
วิธีการวางแผนและการจัดเวลาในการทานอาหารที่มีประโยชน์
การทานอาหารอย่างเป็นเวลา จะช่วยเสริมให้การทำงานของระบบร่างกายมีความสมดุล และช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้น การวางแผนและจัดเวลาทานอาหารจึงสำคัญ โดยเฉพาะคนที่อยากลดน้ำหนัก ถ้าทานได้ตามแผนที่วางไว้ จะช่วยสลายไขมันได้ดีขึ้น ทั้งยังไม่ต้องอดอาหารอีกด้วย ซึ่งเกณฑ์ในการวางแผนอาหารแต่ละมื้อ มีดังนี้
- มื้อเช้า 07.00–09.00 น. ต้องมีสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย เช่น แซนวิชทูน่า และน้ำเต้าหู้
- มื้อกลางวัน 11.00–13.00 น. ควรกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนเป็นสำคัญ เลือกทานไขมันพอประมาณ และควรมีผลไม้ด้วย เช่น ผัดกะเพราหมูสับ และฝรั่ง
- มื้อเย็นทานก่อนเวลา 20.00 น. ควรหลีกเลี่ยงเมนูไขมันสูง ไม่ควรกินมากเกินความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะทำให้ประสาทตื่นตัวจนนอนไม่หลับ โดยตัวอย่างเมนู เช่น ส้มตำผลไม้ และน้ำเปล่า
4. หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายร่างกาย
กิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายร่างกายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยในการพักผ่อนได้ เช่น การนวด หรือการสปา ที่สามารถคลายจากความเหนื่อยล้า หรืออาการปวดเมื่อยเป็นอย่างดี ยิ่งกับวัยทำงานที่อาจโหมทำงานหนักโดยไม่ได้ดูแลสุขภาพแล้ว การนวด การสปา หรือการใช้สมุนไพรแช่เท้าทำเอง จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของระบบเลือดลมในร่างกาย เพิ่มพลังงาน ลดความเครียด ทั้งยังช่วยให้ได้อารมณ์ผ่อนคลาย ปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการนอนหลับพักผ่อนอีกด้วย
ก่อนเลือกกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายร่างกายควรทำอย่างไร?
หากคุณเลือกกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายร่างกายเป็นการพักผ่อน ในการวางแผนและเลือกกิจกรรม จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้
- ข้อจำกัดของแต่ละกิจกรรม เช่น ไม่ควรนวด หากเป็นโรคผิวหนัง มีอาการอักเสบ มีบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา และอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือน หากต้องการแช่เท้าในสมุนไพร ควรระวังอาการแพ้สมุนไพร และ ผู้เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้มีบาดแผลหรือโรคผิวหนังที่เท้าควรหลีกเลี่ยง
- ค่าใช้จ่าย กิจกรรมผ่อนคลาย เช่น การนวด หรือการทำสปา ล้วนมีค่าบริการที่จะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่ตามมาได้ แต่หากต้องการประหยัด การเลือกการผ่อนคลายด้วยการแช่เท้าในน้ำเกลือ หรือสมุนไพรที่หาได้ในครัวเรือน จะเป็นทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
- ระยะเวลา กิจกรรมผ่อนคลายเหล่านี้ มีการใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ควรแช่เท้าประมาณ 10-15 นาที แต่ไม่ควรเกิน 30 นาที ส่วนการนวดหรือการสปามีระยะเวลาตั้งแต่ 30 นาที หรือ 2 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับคอร์สที่เลือก ดังนั้น บางกิจกรรมที่ใช้เวลานาน จะเหมาะกับเลือกทำในช่วงวันหยุด มากกว่าหลังเวลาเลิกงาน
วิธีการวางแผนและการจัดเวลาในการทำกิจกรรมผ่อนคลายร่างกาย
การวางแผนที่ดีจะทำให้ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ จึงควรเลือกวันและเวลาให้เหมาะสมกับรูปแบบกิจกรรมผ่อนคลายร่างกาย เช่น กิจกรรมที่ใช้เวลานาน ควรเลือกทำในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นต้น
- การนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ควรนวดอาทิตย์ละ 1 ครั้ง หรือสองอาทิตย์ต่อ 1 ครั้ง ไม่ควรนวดทุกวันเพราะต้องให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อน
- การทำสปา ไม่มีกำหนดตายตัว จะทำเวลาใดขึ้นอยู่กับแต่ละคน สามารถทำได้ทุกเมื่อ แต่ทั้งนี้ควรหาข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบและครบถ้วน เพื่อได้รับการทำสปาที่เหมาะสมและดีต่อตนเองทุกด้าน
- การแช่เท้า ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ตั้งแต่ 19.00 – 23.00 น. การแช่เท้าในช่วงเวลานี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้น และช่วยปรับคุณภาพการนอน ให้นอนหลับไปสนิทมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเลือกการแช่เท้าก่อนนอนในวันทำงานได้ เนื่องจากใช้เวลาต่อครั้งไม่นาน
5. ทำงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลาย
นอกจากการทำงานอดิเรก เช่น อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ การท่องเที่ยว การถ่ายภาพ หรือเล่นดนตรี จะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์และความเครียดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ช่วยเพิ่มทักษะในการใช้ชีวิตต่างๆ เช่น เพิ่มพลังบวกให้จิตใจ สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เสริมร่างกายให้แข็งแรง และอาจช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมจากงานอดิเรกได้ด้วย เป็นต้น
ก่อนเลือกงานอดิเรกควรทำอย่างไร?
การเลือกงานอดิกเรกให้เหมาะสมกับตนเอง จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขในขณะที่ทำกิจกรรมนั้น จึงควรพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่
- ความถนัดและความสนใจ เนื่องจากแต่ละคนมีสิ่งที่สนใจและถนัดแตกต่างกัน
- ระยะเวลาที่ว่าง หากเป็นผู้ที่มีเวลาน้อยควรเลือกงานอดิเรกที่ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากเกินไป เช่น การฟังเพลง หรือการอ่านเรื่องสั้น
- ค่าใช้จ่าย หลายๆ งานอดิเรก สามารถก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายตามมาได้ เช่น ชมภาพยนตร์ในโรงหนัง หรือการเข้าเวิร์กช็อปทำงานประดิษฐ์ ดังนั้น สำหรับผู้ที่อยากประหยัดงบ ควรเลือกงานอดิเรกที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากนัก
- รูปแบบการเข้าสังคม งานอดิเรกมีทั้งแบบที่ได้พบเจอผู้คนอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว หรือการเข้าคอร์สสอนทำขนมหวาน และรูปแบบที่สามารถทำได้คนเดียว เช่น อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ หรือการทำสวน
- ความท้าทายของกิจกรรม หากต้องการความท้าทายทางร่างกายควรเลือกกีฬาหรือการเต้นรำ หากต้องการความท้าทายของความคิดควรเลือกการเล่นหมากรุกหรือบอร์ดเกม เป็นต้น
วิธีการวางแผนและการจัดเวลาในการทำงานอดิเรก
งานอดิเรกจะเกิดจากความสนใจและความสนุกสนานเป็นหลัก ซึ่งจะทำตอนไหนก็ได้ตามที่เห็นสมควร หรือทำในเวลาที่ต้องการผ่อนคลายจากความเครียด แต่ต้องไม่กระทบกับงานและกิจวัตรประจำวันอื่นๆ โดยอาจเลือกทำในตอนพักหลังทานอาหารเที่ยง ตอนเย็นหลังเลิกงาน ระหว่างเดินทางกลับบ้าน หรือในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องดูประเภทของงานอดิเรกควบคู่ไปด้วย เพราะจะมีการจัดการและเวลาในการทำงานอดิเรกที่แตกต่างกัน
งานอดิเรกที่เน้นความชอบและการใช้ทักษะ มักเกิดจากความชอบ ความสนใจ และทักษะของแต่ละคน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ ประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ทำอาหาร เล่นเกม เป็นต้น
งานอดิเรกที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกาย อาศัยความคล่องตัวและการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเล่นกีฬาประเภทต่างๆ โยคะ วิ่ง เต้นรำ เล่นดนตรี หรือเดินป่า เป็นต้น
ตัวอย่างตารางการพักผ่อนฉบับวัยทำงาน วางแผนยังไงดี ให้ได้ประโยชน์
ตัวช่วยหนึ่งที่สามารถช่วยวางแผนการพักผ่อนให้มีประสิทธิภาพ และมีประโยชน์สูงสุด คือ โปรแกรม หรือ แอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกใช้มากมาย เช่น Owaves จุดเด่นคือระบบปฏิทินที่ออกแบบมาเพื่อปรับนาฬิกาชีวิต สามารถวางแผนหรือกิจกรรมไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพได้ หรือ Google Calendar ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี จุดเด่น คือ ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน สามารถกำหนดตารางชีวิตได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การนัดหมาย การทำงาน หรือช่วงเวลาพักผ่อน ทำกิจกรรมต่างๆ หากไม่ต้องการพึ่งพาแอปพลิเคชัน ก็สามารถวางแผนการพักผ่อนเองได้เช่นกัน
โดยตัวอย่างการวางแผนพักผ่อนสำหรับวัยทำงานนี้ จะกำหนดระยะเวลาทำงานเป็น 8 ชั่วโมงต่อวัน และมีวันหยุดเป็นวันเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งกิจกรรมประเภทการออกกำลังกาย สามารถเลือกทำได้ทั้งก่อนและหลังการทำงาน ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้
- วันจันทร์: มื้อเช้า (แซนวิชแฮม และน้ำเต้าหู้), มื้อกลางวัน (ผัดกะเพราไก่ และไข่ดาว), มื้อเย็น (สลัดผัก), ทำงาน 8 ชั่วโมง (8.00-17.00 น.), วิ่งจ็อกกิง 30 นาที, อ่านหนังสือ 1 ชั่วโมง, นอนหลับ 8 ชั่วโมง
- วันอังคาร: มื้อเช้า (โจ๊กหมู และปาท่องโก๋), มื้อกลางวัน (ข้าวผัดกุ้ง), มื้อเย็น (น้ำพริกกับผักต้ม), ทำงาน 8 ชั่วโมง (8.00 – 17.00 น.), โยคะ 30 นาที, อ่านหนังสือ 1 ชั่วโมง, นอนหลับ 8 ชั่วโมง
- วันพุธ: มื้อเช้า (ข้าวต้ม และไข่กระทะ), มื้อกลางวัน (ก๋วยเตี๋ยวเรือ), มื้อเย็น (แกงจืดมะระ), ทำงาน 8 ชั่วโมง (8.00 – 17.00 น.), ว่ายน้ำ 45 นาที, ดูซีรีส์ 1 ชั่วโมง, นอนหลับ 8 ชั่วโมง
- วันพฤหัสบดี: มื้อเช้า (ขนมปังปิ้ง ไข่ลวก และกาแฟ), มื้อกลางวัน (ผัดซีอิ้วหมู), มื้อเย็น (ปลาเผาสมุนไพร), ทำงาน 8 ชั่วโมง (8.00 – 17.00 น.), เต้นแอโรบิก 30 นาที, แช่เท้าในน้ำอุ่น 20 นาที, นอนหลับ 8 ชั่วโมง
- วันศุกร์: มื้อเช้า (ไข่คน และมะเขือเทศ), มื้อกลางวัน (ผัดไทยวุ้นเส้น), มื้อเย็น (แกงจืดเต้าหู้), ทำงาน 8 ชั่วโมง (8.00 – 17.00 น.), ตีแบดมินตัน 45 นาที, เล่นเกม 1 ชั่วโมง, นอนหลับ 8 ชั่วโมง
- วันเสาร์: มื้อเช้า (เต้าหู้ผัด), มื้อกลางวัน (ผัดเปรี้ยวหวาน), มื้อเย็น (ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน), ทำความสะอาดและงานบ้าน 7 ชั่วโมง (9.00 – 17.00 น.), ทำสปา 1 ชั่วโมง, เล่นเกม 1 ชั่วโมง, นอนหลับ 8 ชั่วโมง
- วันอาทิตย์: มื้อเช้า (สลัดผลไม้ และน้ำผลไม้), มื้อกลางวัน (ส้มตำ และไก่ย่าง), มื้อเย็น (ยำวุ้นเส้น), ออกไปเที่ยวกับเพื่อน 5 ชั่วโมง (9.00 – 15.00 น.), ดูภาพยนตร์ 2 ชั่วโมง, นอนหลับ 8 ชั่วโมง
จากตัวอย่างข้างต้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล รวมถึง สามารถเลือกวิธีการออกกำลังกาย งานอดิเรก หรือกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ ตามแต่ที่ตนเองให้ความสนใจ หากกำหนดตารางเวลาชีวิตเช่นนี้แล้ว เมื่อเวลาทำงานต้องทำงานให้เต็มที่ เมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็ควรพักผ่อนให้เต็มที่ด้วยเช่นกันหลังจากอ่านบทความนี้แล้ว หลายๆ คนอาจจะรู้แล้วว่า การวางแผนการพักผ่อนมีประโยชน์มีประโยชน์อย่างไร? ดังนั้น ทุกคนจึงควรแบ่งเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับหากิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย และทำงานดิเรกที่ตัวเองชอบ ที่สามารถช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และได้ผ่อนคลายจากความเหนื่อย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในวันต่อไปได้มากยิ่งขึ้น