Table of Contents
การประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และดำเนินตามแผนการที่วางไว้ ความสำเร็จในการประกอบอาชีพก็เช่นกัน ในโลกการทำงาน ก็ควรจะมีการวางแผนเส้นทางของอาชีพในอนาคต
การวางแผนนั้นเรียกว่า Career Path เป็นสิ่งที่ช่วยให้วัยทำงานได้มีความก้าวหน้าในสายงานของตน บทความนี้จะกล่าวถึงว่า Career Path คืออะไร และยกตัวอย่างของ Career Path ในแต่ละสายงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเพิ่มโอกาสที่จะเติบโตในสายอาชีพ
Career Path คืออะไร?
Career Path คือ เส้นทางความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ เป็นการวางแผนเส้นทางการทำงานในอนาคต พิจารณาง่ายๆ ว่าตอนนี้เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งใด อยากเติบโตไปอยู่ตำแหน่งไหน และต่อไปจะสามารถเติบโตในตำแหน่งใดได้บ้าง แล้วเป้าหมายสูงสุดของการทำงานคืออะไร ซึ่งจะเป็นการวางแผนเพื่อให้ไปถึงและบรรลุเป้าหมายนั้นๆ
ทำไมถึงควรเริ่มวางแผน Career Path ของตัวเอง?
การวางแผน Career Path ของตัวเองไว้ เป็นเหมือนการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะก้าวหน้าในสายงานต่างๆ เพราะช่วยให้มองเห็นอนาคตในการทำงานของตนเองได้ชัดเจนขึ้น ทั้งยังเป็นแรงผลักดันที่กระตุ้นให้ตนเองรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่และต้องทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
หลักการวางแผน Career Path มีอะไรบ้าง?
หากเป็นคนวัยทำงานที่อยากประสบความสำเร็จ และอยากจะวางแผน Career Path ของตนเอง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี สามารถลองทำตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
ตั้งเป้าหมายในการทำงาน
การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน จะช่วยให้สามารถทำบรรลุเป้าหมายนั้นให้สำเร็จได้ รวมถึง อาจบรรลุเป้าหมายได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น การตั้งเป้าหมายนี้มีประโยชน์ต่อการวางแผน Career Path เพราะจะทำหน้าที่เป็นแผนที่นำทางให้ไปถึงเป้าหมายต่อๆ ไปในการทำงานได้ เปรียบเสมือนการขับรถที่มีแผนที่บอกเส้นทางและกำหนดจุดหมายปลายทางไว้อย่างชัดเจน ซึ่งถ้ารู้เส้นทางก็ไปถึงจุดหมายนั้นได้ไม่ยาก
คำนึงถึงลักษณะของตำแหน่งงาน
อีกหลักการหนึ่งที่ควรนึกถึง ในการวาง Career Path ของตัวเอง คือ การคำนึงถึงลักษณะงาน นอกจากระดับตำแหน่งงานแล้ว จะต้องคำนึงถึงในด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เป้าหมายของงาน หน้าที่หรือขอบเขตของงานที่ต้องรับผิดชอบในตำแหน่งนั้นๆ โดยควรพิจารณาว่าคุณจำเป็นต้องสั่งสมประสบการณ์ในตำแหน่งใดมาก่อนบ้าง ต้องมีประสบการณมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณต้องพัฒนาในส่วนไหนเพิ่มเติม และให้มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะรับผิดชอบต่อหน้าที่ในตำแหน่งนั้นได้
วางแผนระยะยาว 5 ปี และ 10 ปี
การวางอนาคตในระยะยาว เช่น ตำแหน่งของอาชีพของตัวเองในระยะเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี ก็ต้องมีการวางแผนไว้เช่นกัน ซึ่งต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร โดยคุณอาจลองถามตัวเองด้วยคำถามกว้างๆ เช่น คุณให้ความสำคัญเรื่องไหนในชีวิตมากที่สุด เอาบริบทของชีวิตมาพิจารณาร่วมด้วย และเริ่มตั้งเป้าหมายว่าในระยะ 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้านี้ อยากเห็นตัวเองมีชีวิตแบบไหน ทำงานอยู่ตำแหน่งใด หรือมีเงินเดือนเท่าไหร่
ทั้งนี้ เป้าหมายในระยะเวลา 5 ปีหรือ 10 ปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอในระหว่างทาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก จนกว่าคุณจะแน่ใจแล้วว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร
พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
ถ้าคุณพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ จะทำให้เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพไปได้ไกลอย่างแน่นอน เพราะการเพิ่มความสามารถของตนเอง และเพิ่มศักยภาพในการทำงาน จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเลื่อนขั้นตำแหน่ง หรือได้รับมอบหมายหน้าที่ที่มีความสำคัญมากขึ้นได้
ทั้งนี้ หากคุณพัฒนาตัวเองจนมีความสามารถที่ตรงกับตำแหน่งใหม่ๆ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้คุณมีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพเพิ่มขึ้นมาใหม่อีกด้วย
ปรับเป้าหมายการทำงานให้เข้ากับเป้าหมายการใช้ชีวิต
อีกหลักในการวาง Career Path คือ คุณควรปรับเป้าหมายในการทำงานให้เข้ากับเป้าหมายการใช้ชีวิตด้วย เช่น อยากกำหนดแผนการทำงานของตนเองได้ หรืออยากบริหารเวลาชีวิตด้วยตนเอง ก็เลือกเป้าหมายการทำงานไปทางธุรกิจส่วนตัว หรือทำฟรีแลนซ์ หากต้องการรายได้ที่แน่นอนหรือชอบงานที่มีระบบระเบียบ ก็ควรเลือกเป้าหมายการทำงานไปทางพนักงานออฟฟิศ และวางแผนที่จะเลื่อนขั้นไปถึงระดับผู้บริหาร
การปรับเป้าหมายเช่นนี้จะช่วยให้คุณได้เลือกอาชีพที่มีสไตล์การทำงานที่ถูกใจ ซึ่งจะได้ทำงานอย่างมีความสุข และสามารถดำเนินตาม Career Path ที่วางแผนไว้ได้อย่างเต็มที่
ทำไมบริษัทถึงควรวางแผน Career Path ให้กับพนักงาน
บริษัทที่มีการวางแผน Career Path ให้กับพนักงาน จะทำให้พนักงานมองเห็นเป้าหมายและอนาคตของตัวเองในที่ทำงานได้ชัดเจนขึ้น เมื่อพนักงานในองค์กรมองเห็นเป้าหมายแล้ว ก็จะพัฒนาทักษะและความสามารถ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในอาชีพ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพขององค์กรได้
ทั้งนี้ การที่องค์กรวาง Career Path ให้กับพนักงาน ยังเป็นอีกวิธีในการรักษาพนักงานเพื่อลดการลาออกอีกด้วย เพราะสามารถช่วยสร้างความรู้สึกมั่นคงให้กับพนักงานได้
ตัวอย่าง Career Path ในแต่ละสายงาน
เส้นทางในสายอาชีพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างไปตามเป้าหมาย และสายงานนั้นๆ โดยตัวอย่าง Career Path ในแต่ละสายงาน มีดังนี้
1. สายงาน IT
เนื่องจากในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทำให้สายงาน IT เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะจำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะด้าน และมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ โดยตำแหน่งงานในสาย IT ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น Programmer, IT Admin /Network Admin, Technical Support เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path ในสาย IT: Computer Science Major → Web Developer Intern → Junior Web Developer → Software Engineer → IT Manager → Head of IT
2. สายงาน Marketing
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่างาน Marketing มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี จากข้อมูลรายงานของเว็บไซต์หางานและสมัครงาน พบว่ากลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่ สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 29.7% เลยทีเดียว ตำแหน่งในสาย Marketing ที่เป็นที่รู้จัก เช่น งานพัฒนาธุรกิจ, งานการตลาดดิจิทัล, งานการตลาด, งานอีคอมเมิร์ช เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path ในสาย Marketing: Social Media Specialist → Content Marketing Associate → Marketing Lead → Head of Marketing → Chief Marketing Officer (CMO)
3. สายงาน Accounting & Finance
สายงานบัญชีและการเงิน เป็นสายงานที่มีความต้องการบุคลากรด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีความสำคัญในภาคธุรกิจและตลาด เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กร ช่วยในการวางแผนและปฏิบัติงาน ตำแหน่งในสายงาน Accounting & Finance ที่เป็นที่รู้จัก เช่น Accountant, Tax Specialist, Internal Auditor, Accounting Consultant เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path ในสาย Accounting & Finance: Finance Major → Junior Accountant → Senior Accountant → Corporate Controller → Chief Financial Officer (CFO)
4. สายงาน HR
HR (Human Resources) หรือ สายงานทรัพยากรบุคคล ถือเป็นสายงานที่มีความจำเป็นในทุกองค์กร และเป็นสายงานหนึ่งที่มีความต้องการรับสมัครพนักงานจำนวนมาก โดยเปิดรับตลอดทั้งปี และเปิดกว้างสำหรับคนที่เรียนจบทุกสาขา ตำแหน่งในสาย HR ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ งานสรรหาและคัดเลือกบุคลากร, งานแรงงานสัมพันธ์, งานบริหารค่าจ้างและผลตอบแทน, งานพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรม เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path ในสาย HR: Human Resources Assistant → Interviewer → Benefits Assistant → Benefits Specialist → Assistant Director of Human Resources → Director of Human Resources
5. สายงาน Sales
งานสาย Sales นับว่ามีความสำคัญและทางตลาดมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ทำให้บทบาทการขายยิ่งมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยตำแหน่งในสายงานนี้ที่เป็นที่รู้จัก เช่น Sales Manager, Sales Executive, Sales Engineer, Sales Representative เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path ในสาย Sales: Salesperson → MBA → Assistant Brand Manager → Brand Manager → Group Manager → Marketing Director
6. สายงาน Engineer
ปัจจุบันงานสาย Engineer เป็นที่ต้องการของภาคผลิตในหลากหลายสาขา มีการแปรผันตามทิศทางของภาคผลิต เป็นสายงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะทำให้กระบวนการทำงานและการผลิตสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นในสถานการณ์ต่างๆ โดยตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับสาย Engineer เช่น Production Engineer, Process Engineer, Purchase Engineer, Maintenance Engineer เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path ในสาย Engineer: Junior Engineer → Senior Engineer → Project Manager → Engineering Consultant
7. สายงาน Logistics
สายงานที่มีบทบาททางธุรกิจมากขึ้น คือ สายงาน Logistics หรืองานด้านขนส่งสินค้า โดยการทำงาน คือ การขนส่ง หรือเคลื่อนย้ายสินค้า ไปยังจุดหมายด้วยวิธีการและระบบที่ดีที่สุด ซึ่งในการทำงานต้องใช้ความสามารถอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการด้าน Logistics จึงยังเป็นที่ต้องการจำนวนมาก งานในสายนี้ เช่น งานคลังสินค้า, งานแพ็กสินค้า, งานจัดเรียงสินค้า, งานนำเข้าและส่งออกสินค้า เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path ในสาย Logistics: Shipping Coordinator → Freight Supervisor → Import Export Specialist → Freight Documentation Manager → Chief Operating Officer
8. สายงาน Customer Service
Customer Service เป็นอีกสายงานที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเกือบทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีการบริการลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและความประทับใจให้กับลูกค้า เป็นสายงานที่มีบทบาทอย่างมากในองค์กร จึงเป็นสายงานที่ตลาดต้องการอยู่เสมอ งานในสาย Customer Service เช่น งานบริการให้ข้อมูลทางโทรศัพท์, งานแนะนำสินค้า, งานแคชเชียร์, งานขายทางโทรศัพท์ เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path ในสาย Customer Service: Customer Service Representative → Inside Salesperson → Outside Salesperson → Major Account Salesperson → Regional Sales Manager
การวางแผน Career Path คือ สิ่งสำคัญที่วัยทำงานทุกคนควรรู้จักและควรทำไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อให้มีความก้าวหน้าในสายงาน หรือหน้าที่การงานมากขึ้น เพียงแค่เริ่มวางแผนตามหลักการวางแผน Career Path พร้อมศึกษาจากตัวอย่าง Career Path ในสายงานของตนเองที่ได้นำมาฝากไว้ในบทความนี้ ก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ และสามารถทำงานพร้อมกับใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ หากองค์กรสามารถวาง Career Path ของพนักงาน ก็จะช่วยลดอัตราการลาออกได้ เพราะพนักงานมองเห็นแนวทางความก้าวหน้าของตนเอง