ภาวะเงินฝืด ลงทุนอะไรดี? วิธีเอาตัวรอดในวิกฤตเศรษฐกิจ

“ภาวะเงินฝืด (Deflation)” เป็นคำที่หลายคนอาจจะรู้สึกคุ้นหู เนื่องจากเป็นสภาพเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาวะเงินเฟ้อและสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนได้ โดยบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่หลายคนเคยสงสัย ตั้งแต่สาเหตุการเกิดเงินฝืด ผลกระทบที่เกิดจากภาวะเงินฝืด ไปจนถึงแนวทางการลงทุนในภาวะดังกล่าว

สาเหตุของเงินฝืด

ภาวะเงินฝืดคืออะไร และสาเหตุเงินฝืดมาจากปัจจัยใดบ้าง 

ภาวะเงินฝืด (Deflation) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีสินค้าและบริการออกมาสู่ท้องตลาดมากกว่าความต้องการซื้อของคนภายในประเทศ หรือประชาชนมีความสามารถในการซื้อน้อยลงนั่นเอง ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถขายของได้ จนทำให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศตกต่ำ 

สำหรับเงินฝืดนั้นเกิดได้จากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย เนื่องจากเศรษฐกิจมีความผันผวน ส่งผลให้เงินในระบบเศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง รวมถึงปริมาณเงินในระบบเศรฐกิจมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ สาเหตุเงินฝืดยังมาจากปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • รัฐเกิดความผิดพลาดในการดำเนินโยบายการเงินและการคลัง เช่น รัฐเก็บภาษีทางตรงมากจนประชาชนเหลือเงินใช้จ่ายน้อย รัฐพิมพ์ธนบัตรหมุนเวียนไม่เพียงพอ และรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้สถาบันการเงินประสบปัญหา 
  • มีเงินทุนออกนอกประเทศมากเกินไป ทำให้เงินทุนในประเทศน้อยลง 
  • เงินออมในระบบลดลง เนื่องจากประชาชนเลือกออมเงินในรูปแบบอื่นๆ แทน 
เงื่อนไขของเงินฝืด

เงื่อนไขที่บ่งบอกว่าประเทศเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

การที่จะประกาศว่าประเทศเข้าสู่ภาวะเงินฝืดนั้นมีเงื่อนไข และจะต้องตรงตามนิยามที่ตั้งไว้ โดยจะอิงตามนิยามภาวะเงินฝืดของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งจะต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อดังนี้

  1. อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (Prolonged Period)
  2. อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ
  3. การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัยยะ
  4. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น
ผลกระทบของภาวะเงินฝืด

ผลกระทบของภาวะเงินฝืดต่อส่วนต่างๆ 

เมื่อระบบเศรษฐกิจในประเทศขาดความสมดุล ไม่ว่าจะมีเงินเฟ้อติดลบเป็นระยะเวลานาน หรือเกิดภาวะเงินฝืด ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ โดยสามารถส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ได้ดังนี้ 

ประชาชน

ในส่วนผลกระทบของภาวะเงินฝืดต่อภาคประชาชนนั้น อาจก่อให้เกิดอัตราการว่างงานสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการขายสินค้าหรือบริการได้น้อยลง จึงต้องลดค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนในการผลิต ทำให้ไม่เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น บางกิจการที่ผลประกอบการแย่มากๆ อาจต้องเลิกจ้างพนักงงาน เพื่อพยุงให้กิจการสามารถไปรอดได้ในภาวะเงินฝืด ทำให้ประชาชนบางส่วนอาจเผชิญกับปัญหาการตกงาน 

ผู้ประกอบการ

สำหรับผลกระทบของภาวะเงินฝืดต่อผู้ประกอบการก็มีไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดราคาสินค้าลงจนทำให้ได้กำไรไม่คุ้มทุน หรืออาจขายไม่ได้จนถึงขั้นขาดทุน ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิต ส่งผลให้อัตราคนว่างงานและตกงานเพิ่มสูงขึ้น

ระบบเศรษฐกิจในประเทศ 

เมื่อระบบการผลิตในประเทศลดลง ธุรกิจต่างๆ ได้กำไรน้อยลง รวมถึงเกิดภาวะขาดทุนอย่างหนัก ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ซบเซา และเศรษฐกิจตกต่ำ 

แนวทางแก้ปัญหาเงินฝืด

แนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะเงินฝืดในประเทศไทย

เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบกับทุกๆ ภาคส่วนตั้งแต่ประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงระบบเศรษฐกิจ ที่ถือว่าจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเงินฝืดสามารถทำได้หลายวิธี โดยรัฐจำเป็นต้องออกนโยบายการเงินและการคลังที่ช่วยผ่อนคลายปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • ลดค่าน้ำค่าไฟ ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชน
  • เพิ่มสภาพคล่องให้เงินในระบบเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารกลางลดดอกเบี้ย ลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย และลดอัตราแลกเปลี่ยน 
  • รัฐสนับสนุนการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น 
  • รัฐควรสร้างโอกาสในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การส่งออก และการจ้างงาน เพื่อให้ภาคธุรกิจมีรายได้ รวมทั้งทำให้เงินในระบบเกิดการหมุนเวียน 
  • ขายพันธบัตรรัฐบาลในจำนวนน้อยและซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนมาให้มาก เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
  • เก็บภาษีให้น้อยลง เพื่อที่ประชาชนจะได้มีเงินในการใช้จ่ายมากขึ้น 
  • ใช้งบประมาณแผ่นดินแบบขาดดุล
ธุรกิจน่าลงทุนเวลาเงินฝืด

ในช่วงภาวะเงินฝืดลงทุนอะไรให้ได้ผลตอบรับดี 

ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ ทำให้เงินสดมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การถือเงินสดในช่วงที่เกิดภาวะเงินฝืดถือว่าทำให้เงินมีค่าสูง เหมาะแก่การเก็บไว้ลงทุนในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนรูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ดังนี้

ตราสารหนี้

ตราสารหนี้เป็นตราสารทางการเงินที่ผู้ถือมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกตราสารมีฐานะเป็นลูกหนี้ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย การซื้อตราสารหนี้ในช่วงภาวะเงินฝืด ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้มูลค่าของตราสารหนี้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรเลือกซื้อตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือ จะได้มีความมั่นคง ได้รับผลตอบแทนที่สูง และยังลดความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ด้วย 

ตราสารทุน

ตราสารทุนหรือเรียกอีกอย่างว่า “หุ้น” เป็นเหมือนเอกสารแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนจาก 2 รูปแบบหลักๆ คือ

  • ส่วนต่างราคา หากซื้อหุ้นมาในราคาถูก และขายตอนที่หุ้นขึ้นก็จะทำให้ได้กำไร ซึ่งเป็นส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้น
  • เงินปันผล เป็นผลตอบแทนที่มาจากส่วนแบ่งจากกำไรของบริษัทที่ทำได้ ซึ่งบริษัทจะจ่ายหรือไม่จ่ายก็ได้ขึ้นอยู่กับนโยบาย แต่หากบริษัทไม่จ่ายก็จะนำเงินสดไปลงทุนทำให้กิจการเติบโตมากขึ้น ซึ่งผลกำไรก็จะอยู่ในราคาของหุ้น หรือส่วนต่างราคาแทน 

แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาให้ดี 

อสังหาริมทรัพย์

ในช่วงที่เกิดภาวะเงินฝืด อสังหาริมทรัพย์อาจมีราคาถูกลง การซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่น่าสนใจ แต่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต้องเลือกทำเลและราคาที่มีความเหมาะสม ที่สำคัญการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เหมาะกับผู้ที่มีเงินเย็น เพราะอาจจะใช้เวลาในการซื้อ-ขายนาน

ทองคำ 

การลงทุนกับทองคำเป็นการลงทุนที่น่าสนใจเสมอ เพราะสามารถเก็งกำไรได้ตลอด ที่สำคัญทองคำนั้นมีมูลค่าในตัวเอง และยังเป็นตัวกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในทองคำ ผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนลงทุนเสมอ 

ภาวะเงินฝืด (Deflation) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีสินค้าและบริการออกมาสู่ตลาดมากกว่าความต้องการซื้อของประชาชน ทำให้ผู้ประกอบการต้องยอมลดราคาสินค้า หรือได้กำไรน้อยลงเพื่อที่จะได้ขายของได้ ซึ่งผลกระทบของเงินฝืด ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศด้วย โดยสาเหตุเงินฝืดเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย เนื่องจากเศรษฐกิจมีความผันผวน หรือปริมาณเงินในระบบเศรฐกิจมีไม่เพียงพอ ซึ่งรัฐบาลต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาเงินฝืดโดยการออกนโยบายการเงินและการคลังที่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

19 เมษายน 2567
19 เมษายน 2567
19 เมษายน 2567
15 มีนาคม 2567
12 มีนาคม 2567
12 มีนาคม 2567

เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้แบ่งปันข้อมูลดี ๆ ให้กับคุณ

หากคุณต้องการ เช่าออฟฟิศ สามารถติดต่อเราได้เลย