สายบุญจดไว้! คู่มือทำบุญบริษัทและเปิดกิจการใหม่ให้เปี่ยมสิริมงคล

ทำบุญบริษัทใช้งบเท่าไหร่

ไม่ว่าจะเปิดกิจการใหม่หรืออยากดำเนินกิจการเดิมให้รุ่งพุ่งแรงยิ่งๆ ขึ้นไป การทำบุญเพื่อเปิดรับสิริมงคลและโชคดีก็ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่อยู่คู่คนไทยมาเป็นเวลานาน บทความนี้จะพาทุกคนไปดูวิธีการทำบุญเสริมดวงให้กับธุรกิจแบบใส่ใจทุกรายละเอียด ครอบคลุมทั้งการทำบุญบริษัทประจำปี และทำบุญเปิดกิจการหรือร้านใหม่ 

รู้จักกับการทำบุญบริษัทและเปิดกิจการ

ทั้งการทำบุญบริษัท และการทำบุญเปิดร้านหรือกิจการใหม่ นิยมจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระ ร่วมกับการสักการะเจ้าที่เจ้าทางในบริเวณสถานที่ตั้งของบริษัทร่วมด้วย โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสิริมงคลให้กิจการก้าวหน้า และดำเนินต่อไปด้วยดี 

ความแตกต่างของการทำบุญ 2 รูปแบบ คือ การทำบุญบริษัทจะจัดขึ้นทุกปี ในขณะที่การทำบุญเปิดร้านใหม่จะจัดขึ้นก่อนเปิดกิจการอย่างเป็นทางการ โดยมีธรรมปฎิบัติที่ผสมผสานกับศาสตร์ฮวงจุ้ย เพิ่มเติมเข้ามาจากขั้นตอนการทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อเสริมให้การเริ่มต้นใหม่นี้มีความเป็นสิริมงคลมากขึ้น เนื่องจากการทำบุญเปิดร้านหรือเปิดกิจการใหม่เปรียบได้กับการทำบุญขึ้นบ้านใหม่

7 ขั้นตอนทำบุญหนุนกิจการฉบับครอบคลุม บุญอยู่ครบ

หลายๆ องค์กรตั้งใจจะทำบุญบริษัทด้วยจิตใจตั้งมั่น หรือเจ้าของกิจการที่ต้องการทำบุญเปิดร้านใหม่ เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย แต่ก็ต้องมาสะดุด เพราะลังเลกับขั้นตอนการทำบุญที่มีมากมายจนเริ่มต้นไม่ถูก ไม่ต้องเป็นห่วงไป มาดูขั้นตอนทำบุญที่ย่อยมาแล้ว 7 ขั้นตอนง่ายๆ ถูกหลักและบุญอยู่ครบแน่นอนกัน

ขั้นตอนทำบุญหนุนกิจการ

ขั้นตอนที่ 1: กำหนดวันเวลา

ขั้นตอนแรกที่ควรวางแผนเมื่อจะทำบุญบริษัท หรือทำบุญเปิดกิจการ คือ การหาวันที่และเวลา ที่ทั้งสะดวกต่อผู้ร่วมงาน และเป็นมงคลด้วยในเวลาเดียวกัน

วันและเวลาที่เหมาะสม

ไม่ว่าจะทำบุญบริษัทประจำปีหรือทำบุญเปิดกิจการใหม่ ก็ควรเลือกวันที่พนักงานทุกคนสะดวกไว้ก่อน ไม่ควรเลือกวันหยุด เพราะเป็นการรบกวนเวลาพักผ่อนของพนักงาน และไม่ควรเลือกช่วงวันที่งานยุ่ง เพราะจิตใจจะพะว้าพะวัง หากได้วันที่ผู้ร่วมงานทั้งสะดวกกายทั้งสบายใจแล้ว ทุกคนก็จะสามารถร่วมงานบุญด้วยจิตใจที่แจ่มใส และเปิดรับพลังงานดีๆ ได้เต็มที่นั่นเอง

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ควรใส่ใจไม่แพ้กัน คือ ความสะดวกของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะด้านของเวลาก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากพระมีเวลาฉันอาหารเพียงสองมื้อ คือ จังหันหรือฉันเช้าเวลาประมาณ  7.00 น. – 8.00 น. และฉันเพลเวลาประมาณ 11.00 น. – 12.00 น. จึงควรเผื่อเวลาเริ่มพิธีให้พอดีกับเวลาที่คณะสงฆ์ต้องฉันอาหาร อาทิ หากนิมนต์มาฉันเพลควรเริ่มพิธีไม่ช้ากว่า 10.30 น. 

วันและเวลาในฤกษ์มงคล

“ฤกษ์” นับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมไทย ไม่ว่าจะพิธีไหนๆ หรือการทำกิจการใดๆ ก็ตาม อันที่จริงแล้ว แก่นของพุทธศาสนาไม่ได้เข้มงวดเรื่องฤกษ์ยาม อาจยึดตามหลักง่ายๆ ว่าวันที่ทำดีก็คือวันฤกษ์ดี แต่หากใครศรัทธาในเรื่องนี้อย่างเหนียวแน่น ก็สามารถยึดวันและเวลาที่อยู่ใน “ฤกษ์บน” ซึ่งเป็นฤกษ์มงคลในไทยได้ โดยในจำนวนฤกษ์บนที่มีทั้งหมด 9 ฤกษ์ จะมีด้วยกันอยู่ 6 ฤกษ์ที่เหมาะกับงานทำบุญบริษัทประจำปี และทำบุญเปิดกิจการใหม่เป็นพิเศษ ดังนี้

  • ทลิทโทฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะกับการเริ่มต้นใหม่ และขอสิ่งใดก็จะได้ง่าย จึงเหมาะกับใช้เป็นฤกษ์เปิดกิจการ โดยเฉพาะการเปิดร้านประเภทร้านขายของชำ และขายของเก่า
  • มหัทธโณฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะกับกิจการที่ต้องการความมั่นคงถาวร เช่น ปลูกสร้างอาคาร เปิดร้าน และเปิดบริษัทใหม่
  • ภูมิปาโลฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะกับกิจการที่ต้องการให้มีความมั่นคงระยะยาว เช่น งานเกี่ยวกับที่ดิน การเปิดอาคาร เปิดห้างร้าน และการเช่าซื้อ
  • เทศาตรีฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะกับกิจการเกี่ยวกับการเดินทาง การติดต่อการค้าระหว่างสถานที่ การท่องเที่ยว และความรื่นเริง เช่น ธุรกิจประเภทโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร หรือสถานบันเทิง  
  • ราชาฤกษ์ ฤกษ์ที่สมพงษ์กับผู้ใหญ่และเจ้านาย เหมาะสำหรับงานราชการ และงานที่ต้องชักจูงคนมารับตำแหน่ง จึงถือเป็นอีกฤกษ์ที่เหมาะสมกับทั้งการทำบุญเปิดกิจการใหม่ และการทำบุญประจำปี ที่ต้องเชิญผู้มีอำนาจในองค์กรมาร่วมด้วย
  • สมโณฤกษ์ เหมาะกับการทำพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญประจำปีบริษัท
นิมนต์พระ ทำบุญ บริษัท

ขั้นตอนที่ 2: นิมนต์พระ

การนิมนต์พระมาทำบุญบริษัท ควรมีตัวเลือกวันเวลามากกว่า 1 ตัวเลือก เนื่องจากคณะสงฆ์อาจติดกิจนิมนต์อื่น แนะนำให้เลือกวัดใกล้สถานที่ทำงาน เพื่อให้พระสงฆ์เดินทางสะดวก รวมถึง ในการติดต่อควรแจ้งข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ประสงค์ทำพิธีอะไร วัน เวลาใด และวิธีการเดินทางของคณะสงฆ์จะเป็นอย่างไร เป็นต้นว่าเจ้าภาพจะส่งรถไปรับหรือไม่ ทั้งนี้ จำนวนพระที่นิยมจะเป็นเลขคี่ เช่น 5 รูป 7 รูป และ 9 รูป โดยนิยมนิมนต์พระจำนวน 9 รูปมากที่สุด เพราะถือว่าเลข 9 เป็นเลขมงคลที่แสดงถึงความก้าวหน้านั่นเอง 

อีกหนึ่งข้อสงสัยในการนิมนต์พระ อย่างคำถามที่ว่า สามารถเจาะจงพระได้หรือไม่? ข้อนี้ต้องบอกว่าหลักการการทำทานของพระพุทธศาสนามี 2 แบบ ได้แก่ ปาฎิบุคลิกทาน หรือการทำทานแบบเฉพาะเจาะจง และสังฆทาน หรือการทำทานแบบไม่เฉพาะเจาะจง ดังนั้น จะเลือกเจาะจงก็ได้ แต่เชื่อกันว่าการทำทานแบบไม่เจาะจง หรือที่เรียกว่า สังฆทาน ได้บุญมากกว่า  

เตรียมวางแผนอาหารทำบุญ

ขั้นตอนที่ 3: เตรียมวางแผนอาหาร

การวางแผนเพื่อเตรียมอาหารในงานทำบุญบริษัท จำเป็นต้องจัดการเรื่องปริมาณและสัดส่วนให้เพียงพอ โดยสามารถแบ่งอาหารเป็น 4 ส่วน ได้แก่ อาหารสำหรับพระพุทธ อาหารสำหรับพระสงฆ์ อาหารสำหรับศาลพระภูมิเจ้าที่ และอาหารสำหรับแขก ซึ่งมีวิธีในการเลือกที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

อาหารสำหรับพระพุทธ

อาหารสำหรับถวายพระพุทธ คือ อาหารที่จัดใส่ภาชนะขนาดเล็กสำหรับถวายพระพุทธเจ้า นิยมจัดข้าว 1 ที่  กับข้าว 2-3 อย่าง ขนมหวาน และน้ำเปล่า วางไว้เบื้องหน้าพระบูชา โดยของที่ไม่ถวายพระ ตามพระวินัย ก็จะไม่ถวายพระพุทธเช่นกัน ดังนั้น ห้ามถวายสุราในสำรับเป็นอันขาด

อาหารสำหรับพระสงฆ์

การจัดอาหารสำหรับพระสงฆ์เริ่มต้นจากดูจำนวนพระสงฆ์ที่มาร่วมพิธี และดูว่าพระสงฆ์นั้นควรฉันลักษณะใด โดยปกติพระสงฆ์จะฉันอยู่ 2 แบบ ได้แก่ ฉันแบบวง และฉันแบบขันโตก

  • ฉันแบบวง คือ พระสงฆ์นั่งล้อมวง โดยมีสำรับอาหารอยู่ตรงกลาง และฉันรวมกัน อาจเป็นบนที่นั่ง หรือเป็นโต๊ะจีนก็ได้ 
  • ฉันแบบขันโตก หรือเรียกว่า ฉันโตก คือ การนำอาหารใส่ในสำรับภาชนะที่เรียกว่าโตก แล้วฆราวาสประเคน 1 โตก ต่อพระ 1 รูป การฉันแบบนี้ควรจัดพื้นที่สำหรับวางโตกเบื้องหน้าสงฆ์ไว้ล่วงหน้า 

อาหารสำหรับศาลพระภูมิเจ้าที่

สำหรับบริษัทที่มีศาลพระภูมิเจ้าที่ หรือผู้ที่เปิดกิจการใหม่โดยเฉพาะ ควรจัดสำรับอาหารสำหรับศาลพระภูมิเจ้าที่แยกไว้อีกชุดหนึ่ง โดยสามารถใช้เป็นอาหารชุดเดียวกับที่เลี้ยงพระและเลี้ยงแขกก็ได้ 

อาหารสำหรับแขก

อาหารสำหรับแขกที่มาร่วมงานนิยมใช้เป็นเมนูแบบเดียวกันกับที่เลี้ยงพระ สามารถจัดเป็นโต๊ะจีนสำหรับให้แขกนั่งทาน เป็นซุ้มสำหรับเดินหยิบเอง หรือจะเป็นบุฟเฟต์ก็ได้ตามสะดวก และตามเหมาะสมกับจำนวนแขกที่มาร่วมงาน

อาหารมงคลช่วยเสริมโชค

ใครที่อยากเสริมสิริมงคลให้อยู่ในทุกรายละเอียดของงานทำบุญบริษัท หรือเปิดกิจการใหม่ ก็สามารถมองหาเมนูอาหารมงคลมาช่วยเสริมโชคได้ เช่น

  • เมนูอาหารมีไส้ อย่างซาลาเปา หรือถุงทองที่เชื่อกันว่าห่อความโชคดีไว้ข้างใน
  • เมนูต้มจืด เช่น แกงจืดวุ้นเส้นหมูสับ สื่อถึงความสำเร็จราบรื่นเหมือนที่เวลาตักน้ำแกงอุ่นๆ มาซดจะรู้สึกลื่นคอ
  • เมนูลาบ เช่น ลาบแซลมอน เสริมให้ได้ลาภสมชื่อ 
  • เมนูปลา เช่น ปลาสามรส เชื่อกันว่าปลาเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองก้าวหน้า 
  • เมนูเป็ด โดยเฉพาะเมนูยอดฮิตอย่างเป็ดปักกิ่ง แสดงถึงความยิ่งใหญ่และความสำเร็จ 
  • เมนูขนมหวานชื่อมงคล เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ถือเป็นขนมหวานสีทองรับทรัพย์ หรือขนมถ้วยฟู เพื่อให้กิจการเฟื่องฟูเหมือนชื่อขนม
สถานที่ทำบุญบริษัท

ขั้นตอนที่ 4: เตรียมสถานที่ 

ขั้นตอนถัดมาในการเตรียมตัวทำบุญบริษัทหรือทำบุญเปิดกิจการใหม่ คือ การจัดการสถานที่ให้สะอาดและเป็นระเบียบ เพราะหากสถานที่ไม่สะอาดก็จะทำให้พลังงานมีความหม่นหมอง กระทบกับความเป็นสิริมงคลได้ 

นอกจากนั้น ควรจัดสรรพื้นที่สำหรับวางโต๊ะหมู่บูชาและพิ้นที่สำหรับให้พระนั่งทำพิธี โดยจัดการไม่ให้มีของอยู่เหนือโต๊ะหมูบูชาหรือเหนือศีรษะพระสงฆ์ รวมถึง ไม่ควรมีภาพหรือของตกแต่งใดๆ แขวนอยู่ข้างบนด้วย ด้านพื้นที่ที่แขกจะนั่งก็ไม่ควรอยู่สูงกว่าพระเช่นกัน 

เตรียมของทำบุญบริษัท

ขั้นตอนที่ 5: เตรียมอุปกรณ์

การเตรียมอุปกรณ์ประกอบพิธีสงฆ์ในงานทำบุญบริษัทให้ครบก็สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ โดยของพื้นฐานที่ควรเตรียม ได้แก่

  • ชุดโต๊ะหมู่บูชา พร้อมด้วยพระประธาน แจกันดอกไม้  กระถางธูป เชิงเทียน ธูป และเทียน  
  • ภาชนะสำหรับใส่สำรับอาหารพระพุทธ และศาลพระภูมิเจ้าที่ 
  • อาสนะพระ พร้อมด้วยพรมหรือเสื่อปูรอง
  • ของใช้พระสงฆ์ เช่น กระโถนพระสงฆ์ ตาลปัตร กระดาษชำระ น้ำดื่ม
  • เครื่องไทยธรรม และชุดสังฆทาน
  • ชุดกรวดน้ำ สำหรับให้ผู้ร่วมงานกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
  • อุปกรณ์เพื่อการเจิมและการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เช่น ขันน้ำมนต์ ดินสอพอง น้ำอบ และทองคำเปลว

หากต้องการหยิบยืมจากวัดก็สามารถทำได้ แต่ควรจดบันทึกไว้ให้ดีและนำส่งคืนให้ครบ หากหลงลืมอาจกลายเป็นการนำของวัดมาไว้กับตัว จะกลายเป็นได้บาปแทนบุญเสียอีก 

จัดโต๊ะหมู่บูชาในออฟฟิศ

ขั้นตอนที่ 6: จัดโต๊ะหมู่บูชาพระและเสนาสนะ

โต๊ะหมู่บูชามีหลากหลายลักษณะ อาทิ โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 3 หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 7 และหมู่ 9 โดยจะมีโต๊ะฐาน 1 ตัว และโต๊ะเล็กสำหรับวางพระพุทธรูปรองและดอกไม้ตามที่พื้นที่สะดวก หรือตามจำนวนพระพุทธรูปองค์รองที่ต้องการวาง ส่วนวิธีการวางให้วางพระพุทธรูปพระพุทธเจ้าอยู่ชั้นสูงสุด และจัดลำดับองค์พระอื่นๆ ตามบารมี อาทิ จัดพระสารีบุตรอยู่สูงกว่าพระอริยสงฆ์ และจัดพานดอกไม้และเชิงเทียนให้อยู่ต่ำกว่าพระพุทธรูปต่างๆ ทั้งนี้ ทิศที่วางโต๊ะหมู่บูชามีหลากหลาย แล้วแต่ตำราความเชื่อ อาทิ ตั้งในทิศมงคลของเจ้าของงาน ตั้งในทิศเหนือ หรือตะวันออกของบ้าน อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญที่ทุกตำราบอกเหมือนกัน คือ ไม่ควรตั้งอยู่หน้าห้องน้ำ ใต้บันได หรือตั้งในมุมอับ

ทางด้านเสนาสนะ ควรเว้นระยะห่างให้พอดีสำหรับวางส่งของที่ต้องถวายพระ รวมถึงวางของส่วนตัว อาทิ  ตาลปัตร กระดาษชำระ และน้ำดื่ม

วิธีจัดการพิธีสงฆ์ 

ขั้นตอนที่ 7: จัดการพิธีสงฆ์ 

ขั้นตอนสุดท้ายในพิธีทำบุญบริษัทประจำปี คือ การจัดการพิธีสงฆ์ตามลำดับให้เรียบร้อย ดังนี้ 

  • เมื่อคณะสงฆ์มาถึง กล่าวนมัสการ นิมนต์นั่งในสถานที่ที่จัดไว้ และถวายน้ำ
  • เมื่อถึงเวลามงคล ให้เริ่มพิธีโดยจุดธูปเทียนบูชาที่โต๊ะหมู่บูชา โดยจุดเทียนก่อนธูป และเริ่มจุดจากด้านขวาพระพุทธรูป แล้ววนไปทางซ้าย จากนั้นกราบพระพุทธในท่าเบญจางคประดิษฐ์ กล่าวบูชาพระรัตนตรัย และอาราธนาศีลตามลำดับ เมื่อไหว้พระพุทธเสร็จแล้วจึงนิมนต์ให้พระสงฆ์สวดมนต์โดยใช้บทอาราธนาปริตร 
  • เมื่อพระสงฆ์สวดถึง “อเสวนา จ พา ลานัง” ให้เจ้าภาพถวายข้าวพระพุทธ
  • เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้วจึงถวายภัตตาหาร โดยใช้มือขวาจับก่อน และประเคนห่าง 1 ศอกยก เมื่อประเคนแล้วควรระวังไม่ให้สัมผัสโดนภัตตาหารอีก หากเผลอสัมผัสโดน ควรยกประเคนใหม่อีกครั้ง
  • เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ ให้เก็บสำรับ จากนั้นเจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรมและสังฆทาน ในขั้นตอนนี้ไม่ควรถวายเงินใส่ซอง เพราะผิดวินัย หากต้องการถวายเงินแก่พระสงฆ์ควรถวายเป็นใบปวารณา แล้วนำเงินไปมอบกับไวยาวัจกรแทน 
  • ลาข้าวพระพุทธ พระสงฆ์อนุโมทนา จากนั้นผู้ร่วมงานจึงกรวดน้ำ และรับพร
  • พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ 
  • เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์เจิมสถานที่ หากต้องการ
  • ส่งพระสงฆ์กลับวัดหลังจบพิธี
เคล็ดลับเพิ่มเติมสำหรับทำบุญรับกิจการใหม่

เคล็ดลับเพิ่มเติมสำหรับทำบุญรับกิจการใหม่

สำหรับการทำบุญเปิดกิจการใหม่นั้นนิยมเป็นการทำบุญเลี้ยงพระ ซึ่งมีขั้นตอนเหมือนกับการทำบุญบริษัทประจำปีตามที่กล่าวไปด้านบน แต่จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่สามารถทำได้เพื่อเสริมโชค โดยความเชื่อในส่วนนี้มักจะผสมผสานกับความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย

ให้ผู้ใหญ่ที่เคารพเป็นเจ้าภาพดำเนินพิธีต่างๆ

เมื่อจะทำพิธีใดๆ ไม่ว่าจะทำบุญเปิดร้านใหม่ เลี้ยงพระ ไหว้ศาล ควรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเป็นเจ้าภาพดำเนินพิธี เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับการเริ่มต้นใหม่

ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใกล้ๆ ร้าน

การเปิดร้านเป็นการมาขอใช้สถานที่ หากมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใกล้ร้านควรเข้าไปกราบไหว้ เพื่อเป็นการสักการะเจ้าของที่ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง และนำความเจริญมาให้

ไหว้เจ้าที่ด้วยของมงคล

ไหว้เจ้าที่ด้วยของมงคล ซึ่งแต่ละตำราความเชื่ออาจมีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย แต่หลักๆ แล้วนิยมใช้ เทียน 1 คู่ ธูป 5 ดอก น้ำชา 5 แก้ว พวงมาลัยดาวเรืองหรือดอกดาวเรือง อาหารคาวหวาน ผลไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล 9 ชนิด หรือ ผลไม้ 5 อย่าง เพื่อให้ครบทั้ง 5 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และทอง

ทำพิธีล้างปรับสภาพ

สำหรับคนที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน สามารถทำพิธีล้างปรับสภาพ นั่นคือพิธีล้างพลังงานออกจากสถานที่ที่เคยมีคนอยู่มาก่อน โดยขั้นตอนคร่าวๆ ของพิธีนี้เริ่มจากการดูฤกษ์ทำพิธี ทำความสะอาดสถานที่ โรยเกลือสมุทรพร้อมเหรียญแปดเหลี่ยมในบริเวณอาคาร จากนั้นออกจากอาคารเพื่อรอฤกษ์เก็บกวาด เมื่อถึงฤกษ์เก็บกวาดจึงเข้ามาเก็บกวาดของใส่ผ้าขาว ห่อให้มิดชิดและนำไปทิ้งที่ห่างไกล

อย่างไรก็ตาม คนที่จะทำพิธีนี้ควรศึกษารายละเอียดอย่างระมัดระวัง และสตรีมีครรภ์ไม่ควรร่วมพิธีโดยเด็ดขาด

ดับไฟและออกนอกอาคารก่อนได้ฤกษ์

ก่อนจะถึงเวลาที่เป็นฤกษ์ดีให้ดับไฟในและนอกอาคาร รวมถึงให้ทุกคนออกจากอาคารมารออยู่หน้าอาคารแทน พอได้ฤกษ์แล้วจึงค่อยเดินเข้าไปจัดตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

เอาของมงคลเข้าร้าน

การนำของมงคล เช่น ข้าวสาร ขนมชื่อมงคล เงินจำนวน 999 บาทเข้าร้านเป็นอันดับแรกๆ เป็นอีกเคล็ดที่นิยมทำกัน โดยเชื่อกันว่าของมงคลจะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้กิจการมีแต่สิริมงคล

ใส่ชุดใหม่

เคล็ดลับอีกข้อที่ทำได้ง่ายๆ คือ การใส่ชุดใหม่ไปในวันทำบุญเปิดร้านใหม่ เพื่อเป็นการเปิดรับโอกาสใหม่ๆ อีกทาง

อย่าแจกของฟรีให้แขก

ใครที่เปิดกิจการใหม่ก็คงอยากแจกของเป็นที่ระลึกให้กับผู้มาร่วมงาน โดยเฉพาะของที่เป็นสินค้าของร้านเอง แต่จริงๆ แล้วมีการถือเคล็ดกันว่า วันเปิดร้านนั้นอย่าเพิ่งแจกของฟรี แต่ให้แจกเป็นคูปอง สำหรับมาแลกของในวันอื่นๆ แทน

นอกจากเคล็ดลับต่างๆ ที่สามารถทำได้ช่วงทำบุญเปิดร้านใหม่แล้ว ยังมีเคล็ดลับการจัดฮวงจุ้ยในสถานที่ทำงานที่ถ้าเริ่มดีตั้งแต่ต้น ก็จะช่วยให้กิจการรุ่งได้ต่อเนื่อง อาทิ การจัดห้องทำงานตามฮวงจุ้ย หรือการนำฮวงจุ้ยมาปรับใช้กับการออกแบบนามบัตรเรียกทรัพย์ เป็นต้น 

รวมสิ่งที่ควรรู้ในการทำบุญบริษัท ถ้าไม่อยากจัดงานพลาด

รวมสิ่งที่ควรรู้ในการทำบุญบริษัท ถ้าไม่อยากจัดงานพลาด

ทราบสิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดไปแล้ว มาดูรายละเอียดเล็กๆ ที่ไม่ควรพลาดในงานทำบุญบริษัทกันบ้างดีกว่า

นิมนต์พระไม่ควรบอกชื่ออาหาร

เมื่อนิมนต์พระาทำบุญบริษัท ไม่ควรบอกพระว่าจะเลี้ยงอาหารอะไรบ้าง หรือไม่ควรนิมนต์ด้วยคำพูดเช่น นิมนต์มาฉันแกงเขียวหวาน เพราะการบอกชื่ออาหารนั้นจะผิดวินัยสงฆ์ ทำให้พระไม่สามารถรับนิมนต์ได้ หรืออาจอาบัติในภายหลัง

แขกควรรับประทานอาหารหลังพระฉัน

แขกที่มาร่วมทำบุญบริษัทควรเริ่มรับประทานอาหารหลังจากที่เก็บสำรับที่พระสงฆ์ฉันเสร็จ และหลังจากลาข้าวพระพุทธเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรรับประทานพร้อมกับพระสงฆ์ หรือก่อนพระสงฆ์

งานบุญใหญ่ ไว้ใจออร์กาไนเซอร์

การทำบุญบริษัทและการทำบุญเปิดกิจการใหม่มีหลายขั้นตอนและรายละเอียด ยิ่งถ้างานบุญมีขนาดใหญ่ เจ้าภาพก็อาจต้องปวดหัวได้ หากเล็งเห็นแล้วว่าไม่มีเวลาเตรียมการที่มากพอ หรือจัดการเองได้ไม่หมด ปัจจุบันก็มีทางเลือกเป็นออร์กาไนเซอร์หลายเจ้าที่รับจัดงานบุญแบบครบวงจร เพียงแค่เลือกออร์กาไนเซอร์ที่น่าเชื่อถือก็จะช่วยได้มาก โดยสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้จากรีวิว รูปภาพงานที่ผ่านมา และความใส่ใจขณะติดต่องาน ออร์กาไนเซอร์ที่ดีมักเข้ามาดูสถานที่ก่อนวันงานจริงเพื่อเตรียมการ

จบไปแล้วสำหรับวิธีการทำบุญบริษัทประจำปี และเคล็ดลับดีๆ เพิ่มเติมสำหรับคนที่จะทำบุญเปิดกิจการหรือทำบุญเปิดร้านใหม่ หวังว่าอ่านบทความนี้จบแล้ว ทุกคนจะอิ่มอก อิ่มใจ แจ่มใส พร้อมจัดงานบุญรับสิริมงคล รับโชคดี และความก้าวหน้ากันแบบเต็มพลัง! 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

06 มกราคม 2025
06 มกราคม 2025
06 มกราคม 2025
03 ธันวาคม 2024
03 ธันวาคม 2024
15 ตุลาคม 2024

เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้แบ่งปันข้อมูลดี ๆ ให้กับคุณ

หากคุณต้องการ เช่าออฟฟิศ สามารถติดต่อเราได้เลย