เรซูเม่เปรียบเหมือนหน้าต่างบานแรกที่ช่วยให้ผู้ว่าจ้างเห็นทักษะของผู้สมัคร และเป็นโอกาสให้ผู้สมัครนำเสนอศักยภาพของตัวเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์แล้วนั้น หากสามารถนำเสนอตนเองให้โดดเด่นผ่านแบบฟอร์มเรซูเม่ที่มีมาตรฐาน และการใส่ทักษะ (Skill) ที่เกี่ยวข้องในเรซูเม่ได้ ก็จะกลายเป็นข้อได้เปรียบอย่างแน่นอน ใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะพรีเซนต์เรซูเม่อย่างไรให้เข้าตาผู้ว่าจ้าง บทความนี้นำเคล็ดลับดีๆ และตัวอย่างเรซูเม่มีประสบการณ์มาฝาก
เรซูเม่คืออะไร ต่างกับ CV อย่างไร
ข้อแตกต่างหลักๆ คือ CV พูดถึงประวัติการศึกษาและการทำงานเชิงลึก นิยมใช้สมัครทุน งานราชการ งานวิชาการ ขณะที่เรซูเม่ (Resume) จะเน้นไปที่ทักษะ คุณสมบัติ และประสบการณ์ที่เข้ากับตำแหน่งที่สมัครงานโดยเฉพาะ และนิยมใช้สมัครงานทั่วไป ด้วยเหตุนี้ การเขียน CV จึงมักยาวกว่าเรซูเม่ และมีหลักในการเขียนที่ต่างออกไปด้วย
เรซูเม่มีกี่รูปแบบ เลือกแบบไหนดี
แม้ว่าแบบฟอร์มเรซูเม่ที่นิยมมากที่สุดจะเป็นเรซูเม่แบบเรียงลำดับ (Reverse Chronological Resume) เนื่องจากเป็นแบบฟอร์มที่ HR และโปรแกรมคัดกรองใบสมัครที่เรียกว่า Applicant Tracking Systems หรือ ATS มีความคุ้นเคย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรซูเม่สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายแบบ และเหมาะกับเงื่อนไขในการสมัครงานที่ต่างกันออกไป ดังนี้
1. เรซูเม่แบบเรียงลำดับ (Reverse Chronological Resume)
เรซูเม่แบบเรียงลำดับเป็นตัวอย่างเรซูเม่มีประสบการณ์ที่เห็นได้บ่อยที่สุด โดยจะเรียงประสบการณ์ทำงาน จากปัจจุบันไปอดีต เรซูเม่แบบฟอร์มนี้เหมาะกับคนที่มีประสบการณ์ทำงานในสายงานใดสายงานหนึ่งต่อเนื่องกัน เพราะจะเน้นให้เห็นพัฒนาการในสายงานนั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ใครที่กำลังเล็งบริษัทใหญ่ๆ แนะนำให้ยึดแบบฟอร์มนี้ไว้จะมีโอกาสมากที่สุด เพราะบริษัทใหญ่หลายๆ แห่งมักคัดกรองผู้สมัครผ่านโปรแกรมคัดกรองใบสมัคร (ATS) ก่อนที่จะไปถึง HR
- ข้อดี: อ่านง่าย เพราะทั้ง HR และโปรแกรมคัดกรองใบสมัคร (ATS) คุ้นเคยกับแบบฟอร์มนี้
- ข้อเสีย: มีรูปแบบที่ยืดหยุ่นได้น้อย ถ้ามีช่วงว่างงานจะเห็นชัด และไม่เหมาะกับผู้สมัครที่เปลี่ยนสายงานบ่อย
2. เรซูเม่แบบเน้นสกิล (Skills-based Resume)
ทักษะ หรือ Skill ใน เรซูเม่นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษหากใช้เรซูเม่แบบเน้นสกิล (Skills-Based Resume) โดยเรซูเม่ลักษณะนี้จะเน้นไปที่ทักษะเป็นหลัก และใส่ประสบการณ์เพียงเล็กน้อย หรือไม่ใส่เลยก็ได้ ทั้งนี้ ส่วนของทักษะควรอธิบายอย่างเฉพาะเจาะจงว่านำไปใช้จริงอย่างไรบ้าง เช่น Software development skill – Developed XYZ software for interorganizational communication. (ทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์ – เคยพัฒนาซอฟต์แวร์ XYZ เพื่อใช้ในการสื่อสารภายในองค์กร) หรือ Communication skill – Coordinated with a team of 100+ people. (ทักษะการสื่อสาร – เคยประสานงานกับทีมขนาด 100+ คน)
- ข้อดี: สามารถรวบรวมทักษะที่คล้ายกันจากหลากหลายตำแหน่งไว้ในที่เดียว เหมาะสำหรับคนที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือต้องการเปลี่ยนสายงาน เพราะสามารถนำเสนอได้ว่า ความสามารถหรือ Skill ที่มีจะนำไปประยุกต์ใช้ในสายงานใหม่ได้อย่างไรบ้าง ขณะที่ถ้าเน้นไปที่ประสบการณ์ที่ต่างสายงาน HR อาจมองไม่เห็นความเกี่ยวข้อง
- ข้อเสีย: HR ส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับเรซูเม่แบบฟอร์มนี้ และถือเป็นรูปแบบที่อ่านค่อนข้างยากสำหรับโปรแกรมคัดกรองใบสมัคร (ATS)
3. เรซูเม่แบบผสม (Hybrid Resume)
อีกหนึ่งตัวอย่างของเรซูเม่ฉบับมีประสบการณ์ที่เห็นได้ค่อนข้างบ่อย ใครที่มีดีทั้งทักษะและประสบการณ์จนเกิดปัญหารักพี่เสียดายน้อง เรซูเม่แบบผสม (Hybrid Resume) ถือเป็นรูปแบบที่จะช่วยนำเสนอความโดดเด่นของผู้สมัครออกมาได้ดีเลยทีเดียว โดยเรซูเม่แบบผสมจะให้พื้นที่กับทั้งทักษะและประสบการณ์เท่าๆ กัน
- ข้อดี: นำเสนอได้ทั้งความสามารถและทักษะ
- ข้อเสีย: ยังคงถือว่าเป็นแบบฟอร์มเรซูเม่ที่อ่านยากสำหรับโปรแกรมคัดกรองใบสมัคร (ATS)
ใส่อะไรในเรซูเม่บ้าง
แม้ว่าเรซูเม่จะมีหลากหลายรูปแบบ แต่ก็มีส่วนประกอบหลักๆ ที่คล้ายกัน เรียกว่าเป็นข้อมูลทั่วๆ ไปที่ HR คาดหวังว่าจะได้เห็น มาดูกันว่าควรใส่อะไรในเรซูเม่บ้าง
- ชื่อ และช่องทางการติดต่อ (Personal Information & Contact): ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ต้องมี ควรเขียนให้ชัดเจน และวางไว้ในส่วนที่หาง่าย เพื่อให้สะดวกต่อการติดต่อ
- ส่วนสรุป (Summary/Objective): ส่วนที่พูดถึงเป้าหมาย (Objective) ในการทำงาน หรือความเชี่ยวชาญของผู้สมัคร โดยใส่ไว้ในส่วนต้นของเรซูเม่
- ประสบการณ์ทำงาน (Work Experience): ประสบการณ์ทำงานที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร
- ความสามารถ (Skills) : ความสามารถหรือทักษะที่มี ทั้งทักษะสายอาชีพ (Hard Skills) ทักษะเฉพาะตัว (Soft Skills) และทักษะที่ต่อยอดได้ (Transferable Skills)
- กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง (Relevant Activities): กิจกรรมในเรซูเม่สามารถทำให้ HR เห็นว่าผู้สมัครมีทักษะการริเริ่ม (Initiative Skill) อาทิ หากสมัครงานตำแหน่งดีเจ ก็สามารถใส่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างการทำพอดคาสต์ (Podcast) หรือเป็นนักสตรีมได้
- รางวัลความสำเร็จ (Awards): ไม่ว่าจะได้มาจากกิจกรรมส่วนตัว หรือจากการทำงาน หากมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ทำก็สามารถใส่ลงไปด้วยได้
- บุคคลอ้างอิง (References): คือ บุคคลที่ HR สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้สมัครได้ ส่วนใหญ่ในกรณีของผู้มีประสบการณ์การทำงาน มักจะเป็นหัวหน้างาน หรืออดีตเพื่อนร่วมงานที่ผู้สมัครมีความสัมพันธ์อันดีด้วย ควรมีบุคคลอ้างอิง 3-5 คน
คนมีประสบการณ์ เน้นอะไรในเรซูเม่
เชื่อว่าคนที่มีประสบการณ์หลายคนผ่านการเขียนเรซูเม่มาพอควรแล้ว แต่ก็มีคู่แข่งที่ช่ำชองในการทำเรซูเม่ให้น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นรายละเอียดเล็กๆ จะเป็นตัวตัดสินว่าใครได้ผ่านเข้ารอบ ถ้าหากลองดูตัวอย่างเรซูเม่มีประสบการณ์หลายๆ ฉบับแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าในบรรดาองค์ประกอบมากมายของเรซูเม่ มีส่วนที่ถูกเน้นให้เด่นขึ้น ดังนี้
เน้น Professional Summary
Professional Summary คือ ข้อความที่สรุปประสบการณ์และความสามารถหลัก ที่เป็นจุดแข็งและมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัครงาน โดยส่วนนี้จะวางไว้ในส่วนสรุปที่อยู่ช่วงต้นของเรซูเม่นั่นเอง ในส่วนสรุปนี้หลายคนอาจนิยมใส่เป้าหมายในการทำงาน (Objective) แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์แล้ว ควรเน้นนำเสนอความเชี่ยวชาญในสายงานให้เห็นง่ายๆ สะดุดตา HR ตั้งแต่นาทีแรกดีกว่า
Skill ในเรซูเม่
การเน้นทักษะ หรือ Skill ในเรซูเม่ก็สำคัญไม่แพ้ประสบการณ์ โดยควรใส่ทั้งทักษะสายอาชีพ (Hard Skills) และทักษะที่ต่อยอดได้ (Transferable Skills) รวมไปถึงทักษะเฉพาะตัว (Soft Skills) ที่ดูจำเป็นในตำแหน่งนั้นๆ ทั้งนี้ เคล็ดลับง่ายๆ ที่ห้ามมองข้าม คือ การใส่สิ่งที่ประกาศงานระบุไว้ อาทิ หากผู้ว่าจ้างกำลังมองหา UX Writer ที่มีความรู้ในเรื่อง SaaS ก็จะขาดทักษะ UX Writing และความรู้ SaaS ในเรซูเม่ไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะบางบริษัทคัดเลือกผู้สมัครผ่านโปรแกรมคัดกรองใบสมัคร (ATS) ก่อน ดังนั้น หากไม่เขียนทักษะพวกนี้ให้ชัดเจนก็อาจถูกคัดออกโดยยังไม่มีโอกาสผ่านไปถึงสายตา HR ด้วยซ้ำ
นอกจากนั้น ในตัวอย่างเรซูเม่มีประสบการณ์สำหรับสมัครตำแหน่ง UX Writer นี้ หากมีทักษะที่ต่อยอด UX Writing ได้อย่าง User Research หรือทักษะเฉพาะตัวอย่างการสื่อสารที่ดี ก็ควรใส่ลงไปด้วย เพราะ UX Writer ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งาน และต้องทำงานเป็นทีมร่วมกับหลากหลายตำแหน่ง เช่น UX/UI Designer, Developers และ Brand Communication ฯลฯ
เน้นไปที่ความสำเร็จ
ในส่วนของตำแหน่งที่เคยทำ แนะนำให้อธิบายหน้าที่ของตำแหน่งนั้นๆ ให้กระชับที่สุด เพื่อใช้พื้นที่ที่เหลืออธิบายความสำเร็จในหน้าที่เดิมที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร หรือจะพยายามเขียนหน้าที่พ่วงด้วยความสำเร็จไปเลยก็ได้ ทั้งนี้ ควรเขียนทั้งหน้าที่และความสำเร็จให้สั้นและตรงประเด็น รวมกันแล้วไม่ควรเกิน 6-8 ข้อต่อตำแหน่ง เพื่อไม่ให้ดูแน่น และอ่านยากเกินไป
เน้นเลข
ตัวอย่างที่ดีของเรซูเม่มีประสบการณ์มักจะมีตัวเลขอยู่ในความสำเร็จเสมอ โดยตัวเลขดังกล่าวจะกลายเป็นจุดเด่นท่ามกลางตัวอักษรที่ดึงดูดสายตา HR ที่กำลังสแกนเรซูเม่ได้เป็นอย่างดี แต่ขอบอกเลยว่าความสะดุดตาเป็นเพียงผลพลอยได้เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น จริงๆ แล้วการใส่ตัวเลขที่เฉพาะเจาะจงลงไปจะเพิ่มความชัดเจนและความน่าเชื่อถือให้กับความสำเร็จของผู้สมัคร ดังนั้น แทนที่จะพูดว่าเพิ่มยอดขายเฉยๆ ควรระบุตัวเลขลงไปเลย เช่น Increased sales by 35% (เพิ่มยอดขาย 35%)
เน้นจุดเด่นของบริษัทเดิม
หากบริษัทเดิมไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เอ่ยชื่อแล้วใครๆ ก็ต้องร้องอ๋อ ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า HR อาจไม่รู้จักบริษัทที่เขียนไว้บนเรซูเม่เลยก็ได้ กรณีนี้แนะนำให้เพิ่มคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับบริษัท อาทิ บริษัททำอะไร มีอะไรน่าจับตามอง มีขนาดใหญ่หรือเล็ก เพื่อช่วยให้ HR รู้ว่าผู้สมัครมาจากสายงานไหน มีประสบการณ์ทำงานในสภาพ และแวดล้อมแบบไหน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้พื้นที่ส่วนนี้มากเกินไป และระวังอย่าเขียนอะไรที่เป็นความลับของบริษัทเดิม
เคล็ดลับเพิ่มเติมในการเขียนเรซูเม่ สำหรับผู้มีประสบการณ์
นอกจากสิ่งต่างๆ ที่ควรเน้นให้โดดเด่นแล้ว ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจเล็กๆ ในการเขียนเรซูเม่ที่ยิ่งรู้ไว้ก็จะยิ่งช่วยให้เรซูเม่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ดังนั้น ก่อนจะไปดูตัวอย่างเรซูเม่มีประสบการณ์ ไปดูเคล็ดลับการเขียนเรซูเม่กันก่อนดีกว่า
เขียนแค่หนึ่งหน้า
ความยาวก็เป็นเรื่องสำคัญ เรซูเม่นั้นไม่ควรเขียนเกิน 1 หน้า ถ้าหากไม่พอจริงๆ ก็ไม่ควรเกิน 2 หน้า การเขียนเกิน 1-2 หน้าจะทำให้เรซูเม่เยิ่นเย้อในสายตา HR ควรสรุปย่อๆ ดึงส่วนที่สำคัญและเกี่ยวข้องจริงๆ มานำเสนอจะเป็นผลดีกว่า
ใช้หัวข้อ และรูปแบบที่มีความเป็นมาตรฐาน
หัวข้อที่ใช้ในเรซูเม่ไม่จำเป็นต้องคิดเองก็ได้ สามารถใช้หัวข้อและแบบฟอร์มเรซูเม่ที่นิยมใช้กันเป็นมาตรฐาน
ข้อนี้จะช่วยยืนยันความถูกต้อง และอำนวยความสะดวกให้กับโปรแกรมคัดกรองใบสมัคร (ATS) ด้วย เช่น นิยมใช้คำว่า Work Experience มากกว่า Work History หรือ นิยมเขียนตำแหน่งเรียงจาก ชื่อบริษัท สถานที่ ตำแหน่งงาน เดือนและปีที่ทำงาน ความรับผิดชอบ และความสำเร็จ
อีกหนึ่งเคล็ดลับเพิ่มความโปร คือ การเขียนทักษะทางภาษาที่มีความเป็นมาตรฐานสากล อาทิ เป็นเจ้าของภาษาหรือสามารถสื่อสารภาษาอื่นได้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา (Native or Bilingual proficiency), สื่อสารในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Full professional proficiency), สื่อสารในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Professional working proficiency) หรือ สื่อสารได้ในบริบททั่วไป (Limited working proficiency) ซึ่งระดับเหล่านี้มักอธิบายอยู่ในคะแนนวัดระดับภาษาต่างๆ นั่นเอง แน่นอนว่าหากแนบคะแนนระดับภาษาและปีที่ไปทดสอบมาลงไปด้วย รับรองว่า คุณจะดูมืออาชีพขึ้นอีกเป็นกอง
ศึกษาความต้องการของบริษัทที่สมัครงาน
แต่ละบริษัทมีความต้องการต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องเพิ่มเติมหรือตัดทอนบางส่วนในเรซูเม่ออกไป อาทิ บางแห่งต้องการผู้สมัครอายุ 28-35 ปีเท่านั้น กรณีนี้ควรใส่วันเกิดลงไปในเรซูเม่ แต่บางบริษัทอาจเขียนใต้ประกาศรับสมัครงานว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติเรื่องเชื้อชาติ อายุ เพศ หรือศาสนา กรณีนี้สามารถไม่ใส่วันเกิด เพศ หรือศาสนาลงในเรซูเม่ เพื่อเป็นการแสดงออกโดยนัยว่าผู้สมัครมีแนวความคิดตรงกับบริษัท
อย่าพลาดจุดไหนในเรซูเม่
ผู้สมัครที่มีประสบการณ์ ควรถือโอกาสใช้เรซูเม่เป็นตัวแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ความเป็นระเบียบและความละเอียดในการทำงาน ไม่ควรพลาดทั้งการใช้แบบฟอร์มเรซูเม่ที่เรียบร้อยมีมาตรฐาน ใส่ประสบการณ์ และ Skill ลงไปในเรซูเม่ให้ครอบคลุม และตรงกับสิ่งที่บริษัทต้องการ รวมถึง ไม่ควรพลาดข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะรายละเอียดต่อไปนี้
อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลติดต่อ
ส่วนง่ายๆ ที่ขาดไม่ได้ และผิดพลาดไม่ได้เด็ดขาด เพราะถ้าข้อมูลการติดต่อผิด HR ก็จะไม่สามารถติดต่อคุณได้ กลายเป็นการพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบอีเมล เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลติดต่ออื่นๆ ว่าเป็นปัจจุบันหรือไม่ และสะกดถูกต้องหรือยัง
คำผิด
แม้ว่าการทำงานจะผิดพลาดกันได้ แต่ไม่ควรผิดตั้งแต่เรซูเม่ อย่าลืมตรวจสอบการสะกดคำให้ละเอียด เพราะการเขียนสะกดคำผิดในเรซูเม่จะทำให้ผู้สมัครดูไม่รอบคอบ และอาจดูติดลบในสายตา HR ได้
ตัวเล็กไป เนื้อหาแน่นไป อ่านไม่สะดวก
หน้าตาและดีไซน์ของเรซูเม่ก็มีผลไม่แพ้เนื้อหา หากใช้ตัวอักษรเล็กจิ๋ว ติดๆ กัน ไม่มีช่องไฟ HR เห็นแล้วก็อาจท้อใจได้ ควรจัดหน้าและขนาดตัวอักษรเรซูเม่ให้สบายตา เป็นมิตรกับผู้อ่าน โดยปกติแล้ว ฟอนต์ที่ใช้ไม่ควรมีขนาดเล็กกว่า 14
ไม่จริง หรือเกินจริง
ประสบการณ์ ความสำเร็จ และทักษะ ต้องเป็นเรื่องจริงเท่านั้น เรื่องที่ไม่ได้ลงมือทำจริงๆ หรือความสำเร็จที่เยอะกว่าความเป็นจริงไม่ควรใส่ลงไปเด็ดขาด เช่น หากเพิ่มยอดขายได้ 17% ก็ไม่ควรเขียนบวกๆ เป็นเพิ่มยอดขายเป็น 25% หรือเขียนว่าเชี่ยวชาญในเรื่องที่ไม่ได้เชี่ยวชาญจริง อย่าลืมว่า HR มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล หรือหากหลุดรอดมาได้ก็อาจเป็นปัญหาเมื่อต้องตอบคำถามในรอบสัมภาษณ์อยู่ดี
ประวัติการทำงานที่เก่าเกินไป และไม่เกี่ยวกับตำแหน่งงาน
ไม่ว่าจะเขียนเรซูเม่ตามตัวอย่างเรซูเม่มีประสบการณ์รูปแบบไหน สิ่งที่ควรคำนึงอยู่เสมอ คือ ความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร จึงไม่จำเป็นต้องใส่ประวัติการทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเก่าเกินไปจนไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตำแหน่งปัจจุบันได้ เนื่องจากอาจกลายเป็นข้อมูลที่ใส่แล้วกินพื้นที่โดยไม่ได้ประโยชน์
ไม่ต้องใส่เหตุผลที่เปลี่ยนงาน
บางคนอาจรู้สึกว่าอยากอธิบายเหตุผลที่เปลี่ยนงานไปในเรซูเม่ด้วย เพื่อไม่ให้ HR มีข้อสงสัย แต่อันที่จริงข้อนี้เป็นรายละเอียดที่ลึกเกินไปสำหรับเรซูเม่ ใส่แล้วจะกินพื้นที่ ถ้าหาก HR สนใจในส่วนนี้ก็จะถามในการสัมภาษณ์เอง
ตัวอย่างเรซูเม่ มีประสบการณ์
ได้ทั้งเคล็ดลับ และข้อควรระวังกันไปพอสมควรแล้ว ลองมาดูแบบฟอร์มเรซูเม่ และตัวอย่างเรซูเม่มีประสบการณ์ได้จากด้านล่างนี้เลย
จะเห็นได้ว่าตัวอย่างเรซูเม่มีประสบการณ์ฉบับที่ยกมามีการจัดรูปแบบที่สบายตา อ่านง่าย มีชื่อและข้อมูลติดต่อชัดเจน เริ่มต้นส่วนสรุปด้วยการบรรยายความเชี่ยวชาญของผู้สมัคร ตามด้วยการอธิบายทักษะ และแจกแจงประสบการณ์เรียงจากปัจจุบันไปอดีต พร้อมด้วยความสำเร็จที่อธิบายอย่างกระชับและเพิ่มความเฉพาะเจาะจงด้วยตัวเลข ทำให้ภาพรวมของเรซูเม่ออกมาเป็นระเบียบ ครอบคลุมและน่าเชื่อถือ
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วแต่ก็ยังลังเลกับการจัดรูปแบบเรซูเม่อยู่ไม่หาย ก็ไม่ต้องกังวล เพราะคุณสามารถใช้บริการเว็บไซต์สร้างเรซูเม่ได้ โดยหลายๆ เว็บไซต์จะมีเทมเพลต (Template) ที่เหมาะสมกับสายงานต่างๆ ให้เลือกสรร ตัวอย่างเว็บไซต์สร้างเรซูเม่ฟรีที่น่าสนใจ ได้แก่
- resume.in.th (เรซูเม่ภาษาไทย) – เว็บไซต์ออกแบบเรซูเม่ที่เลือกรูปแบบได้ตามสาขาอาชีพ พร้อมคำแนะนำให้เรื่อยๆ ระหว่างสร้างเรซูเม่
- Jobscan (เรซูเม่ภาษาอังกฤษ) – เว็บไซต์ออกแบบเรซูเม่สไตล์เรียบง่าย เป็นทางการ และเป็นมิตรกับโปรแกรมคัดกรองใบสมัคร (ATS)
- CakeResume (เรซูเม่ภาษาอังกฤษ) – เว็บไซต์ออกแบบเรซูเม่ที่มีรูปแบบหลากหลาย สามารถปรับแต่งเองได้ และมีตัวเลือกให้เก็บลิงก์เรซูเม่สำหรับใช้ออนไลน์ ซึ่งรองรับทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ
สรุป
เส้นทางสู่บริษัทในฝันจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับหลากหลายด่าน เริ่มต้นตั้งแต่หากลวิธีทำเรซูเม่ให้ดึงดูดใจ หาเทคนิคการสัมภาษณ์งานให้น่าจดจำ หรือกระทั่งเลือกสีเสื้อมงคลไปสัมภาษณ์งานให้ถูกหลัก ในด้านของการการเขียนเรซูเม่สำหรับผู้มีประสบการณ์นั้น ควรเน้นไปที่การนำเสนอความสำเร็จในหน้าที่ อีกทั้ง Skill ในเรซูเม่ก็ควรเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร อย่าลืมเน้นความกระชับ และตรวจสอบรายละเอียดเล็กๆ ให้ถูกต้อง หลังจากได้รู้ทั้ง แบบฟอร์มเรซูเม่ เคล็ดลับ และตัวอย่างเรซูเม่มีประสบการณ์ไปครบแล้ว ก็สามารถเริ่มเขียนเรซูเม่ที่น่าประทับใจได้เลย!