สำหรับบัณฑิตป้ายแดงที่เพิ่งจบการศึกษา อาจรู้สึกกังวลในการหางานที่แรก เพราะไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี หรือผู้ที่มีประสบการณ์ที่ต้องอยากหางานใหม่ให้ได้เร็วๆ บทความนี้จะพาไปดูเทคนิคและวิธีหางานให้ได้เร็วๆ โดยเริ่มตั้งแต่การค้นหาตำแหน่งงาน และเคล็ดลับการเพิ่มโอกาสให้ได้งาน เมื่อได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตแล้ว
สารบัญ
1. ตั้งเป้าหมายงานหรือตำแหน่งที่ต้องการทำ
การตั้งเป้าหมายงานที่ต้องการทำ เช่น ตำแหน่งงาน สายงาน เงินเดือน หรือรูปแบบการทำงาน เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับผู้ที่อยากหางานใหม่ให้ได้เร็วๆ เพราะการกำหนดเป้าหมายจะช่วยในการจำกัดขอบเขต และทำให้ไม่ต้องเสียเวลาสมัครในตำแหน่งที่ไม่ได้ต้องการทำจริงๆ นอกจากนี้ ในปัจจุบันเว็บไซต์ค้นหางานยังมีฟังก์ชันที่จะช่วยให้การกรองตำแหน่งงานทำได้ง่ายขึ้น การตั้งเป้าหมาย และนำคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับรูปแบบของงานที่ต้องการไปเสิร์ชในช่องค้นหา ก็จะเป็นอีกวิธีหางานให้ได้เร็ว
2. ทำความรู้จักช่องทางการหางาน
เนื่องจากในปัจจุบันมีช่องทางการหางานใหม่ที่หลากหลาย และแต่ละช่องทางก็มีจุดเด่น หรือเหมาะกับประเภทของงานที่แตกต่างกันออกไป การทำความเข้าใจหลักการทำงานของช่องทางนั้นๆ ก็จะช่วยให้สามารถเลือกช่องทางที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ต้องการ และเป็นอีกวิธีที่ทำให้หางานได้เร็วขึ้น โดยช่องทางที่นิยมมีดังนี้
- โซเชียลมีเดีย มีข้อดีคือเป็นสิ่งใกล้ตัวที่หลายๆ คนใช้เป็นประจำ โดยสามารถหางานได้จากการเข้ากลุ่มสายงานที่ต้องการใน Facebook, แฮชแท็กสายงานใน Twitter หรือจากแอ็กเคานต์องค์กรที่สนใจใน Instagram นอกจากนี้ อีกโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมในการอัปเดตโปรไฟล์งาน คือ Linkedin ซึ่งหากองค์กรหรือ Recruiter สนใจก็จะติดต่อเข้ามาอีกด้วย แต่มีข้อควรระวังสำหรับช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ การถูกหลอกลวง หรืออาจได้ข้อเสนองานที่ผิดกฎหมายได้ จึงจำควรต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือขององค์กรให้ดี
- เว็บไซต์สมัครงาน เช่น JobThai, JobsDB หรือ JopTopGun รวมถึง เว็บไซต์ที่รวบรวมฟรีแลนซ์อย่าง Fastwork หรือ Thai Freelance Agency ข้อดีคือเป็นเว็บไซต์ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้คนหางาน หรืองานที่หาคนมาเจอกัน จึงมีฟังก์ชันในการอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น การสร้างประวัติการทำงานออนไลน์ การยื่นสมัครงานออนไลน์ หรือการใส่คีย์เวิร์ดของประเภทงานที่ต้องการในช่องค้นหา จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานได้ แต่ข้อเสีย คือ การได้ข้อเสนองานที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรืองานที่ไม่ตรงกับ Job Description บนเว็บไซต์
- บริษัทจัดหางาน หรือ Recruitment Agency เช่น Robert Walters, Adecco หรือ Manpower เป็นเหมือนสื่อกลางที่จะช่วยองค์กรหาแคนดิเดตที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน และในทางกลับกันก็สามารถช่วยแนะนำงานที่ตรงกับความสามารถให้คุณได้อีกด้วย รวมถึง Recruiter เหล่านี้ยังอาจแนะนำงานที่ใกล้เคียงให้ได้ จึงถือเป็นแหล่งที่เหมาะสมกับกลุ่มคนจบใหม่ หรือคนที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน แต่ข้อเสียคือบางครั้งอาจได้รับการเสนองานที่ไม่ตรงกับความต้องการ
- คนรู้จักหรือคอนเน็กชัน เช่น เพื่อนสนิท อาจารย์ รุ่นพี่ อดีตหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน เป็นอีกช่องทางที่จะช่วยในการหางานใหม่ เพราะเป็นกลุ่มคนที่เคยเห็นศักยภาพในการทำงานของคุณแล้ว และเข้าใจว่าองค์กรนั้นๆ ต้องการคนแบบไหน หรือมีวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร จึงถือเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้ใครหลายคนได้งาน แต่ข้อเสียคืออาจทำให้รู้สึกกดดันในการทำงานกับคนที่รู้จักอยู่แล้ว หรืออาจถูกเอาเปรียบให้ทำงานเกิน Job Description ได้
3. เตรียม Resume, CV และ Portfolio ที่เกี่ยวข้อง
Resume และ CV ที่ทำหน้าที่ในการสรุปประวัติการทำงาน และประวัติการศึกษาอย่างย่อ รวมถึง Portfolio ในบางสายงาน เช่น งานออกแบบ สายกราฟิก หรืองานเขียน ถือเป็นด่านแรกที่จะทำให้องค์กรเห็นถึงคุณสมบัติของเราได้ ไม่ว่าจะเป็น เรซูเม่สำหรับผู้มีประสบการณ์ หรือบัณฑิตจบใหม่ จำเป็นต้องทำเรซูเม่ให้ดูน่าสนใจ เนื้อหากระชับ และเข้าใจง่าย รวมถึง ต้องให้แต่ข้อมูลที่เป็นความจริงเท่านั้น
โดยวิธีที่จะช่วยให้หางานได้เร็ว คือ การเน้นใส่ประสบการณ์ทำงาน ทักษะ หรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัครโดยเฉพาะ เช่น หากต้องการสมัครตำแหน่งกราฟิกดีไซเนอร์ ควรใส่วุฒิการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ประสบการณ์การทำงานเดิม หรือการฝึกงานในตำแหน่งนี้ รวมถึง การใส่ตัวอย่างผลงานใน Portfolio เป็นต้น อ้างอิงจาก Resume Statistics ผู้จัดการกว่า 40% จะใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีในการรีวิวเรซูเม่ของแคนดิเดต
4. หาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่สมัคร
อีกวิธีที่ช่วยให้ได้งานเร็วขึ้น และเป็นยังช่วยในการตัดสินใจว่า คุณเหมาะสมกับองค์กรนั้นๆ หรือไม่ คือ การหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่สมัคร เช่น ขนาดองค์กร สถานที่ตั้ง สาขา หรือสวัสดิการ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเงิน คุณจำเป็นต้องแต่งตัวให้ดูน่าเชื่อถือทั้งในการสัมภาษณ์และการทำงาน หรือบางองค์กรมีบริษัทลูกหลายแห่ง ก็จะช่วยสร้างโอกาสในการทำงานที่หลากหลายมากขึ้นได้
นอกจากนี้ ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรร่วมด้วย เช่น มีการกำหนดยูนิฟอร์มหรือไม่ หรือมีการจัดงานสังสรรค์บ่อยแค่ไหน เพราะหากวัฒนธรรมองค์กรใกล้เคียงกับการไลฟ์สไตล์ของคุณ ก็จะช่วยให้สามารถปรับตัว และทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
5. อย่าสมัครงานแค่ที่เดียว
การทุ่มเทให้กับองค์กรที่สนใจเป็นเรื่องที่ดี แต่การสมัครงานในตำแหน่งที่น่าสนใจในบริษัทอื่นๆ ด้วยจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานให้ได้เร็วขึ้น สำหรับผู้ที่สมัครงานผ่านเว็บไซต์หางาน เมื่อยื่นใบสมัครแล้ว เว็บไซต์มักแนะนำตำแหน่งงานที่ใกล้เคียงกัน หรือตำแหน่งงานอื่นๆ ในบริษัทมาให้ คุณอาจลองอ่านเกี่ยวกับ Job Description และสมัครในตำแหน่งที่สนใจเพิ่มเติมร่วมด้วย
6. การเขียนจดหมายสมัครงานช่วยเพิ่มโอกาสได้
อ้างอิงข้อมูลจาก The Wall Street Journal การเขียนจดหมายสมัครงาน โดยเฉพาะการเขียนขึ้นใหม่ และเขียนให้มีความเฉพาะเจาะจงกับองค์กรที่จะสมัคร จะช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้จัดการจะเรียกสัมภาษณ์ถึง 51% และการโทรกลับถึง 31% นอกจากนี้ ในกรณีที่ได้การอีเมลนัดแนะสำหรับการสัมภาษณ์ การเขียนตอบอีเมลกลับไป ก็จะช่วยแสดงออกถึงความกระตือรือร้น และยังช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ได้เช่นกัน
7. แต่งตัวไปสัมภาษณ์งานให้เหมาะสม
การแต่งตัวไปสัมภาษณ์งานให้เหมาะสมกับองค์กรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย เพราะช่วยสร้างความประทับใจแรกให้กับผู้สัมภาษณ์ และยังช่วยเสริมความมั่นใจให้กับแคนดิเดตได้อีกด้วย โดยมีหลักง่ายๆ ดังนี้
- องค์กรที่ต้องการความน่าเชื่อถือ เช่น การเงิน ธนาคาร หรือกฎหมาย ควรเลือกแต่งแบบเป็นทางการ เช่น เสื้อเชิ้ตแขนยาว เน็กไท สูท กระโปรงยาวคลุมเข่า หรือกางเกงสแล็กสีสุภาพอย่าง ดำ ขาว และกรมท่า
- องค์กรที่ไม่มีรูปแบบการแต่งกายที่ชัดเจน เช่น Start-up หรืองานสายครีเอทีฟ ควรเลือกแต่งแบบกึ่งทางการ โดยอาจเพิ่มลูกเล่นให้กับเสื้อผ้า เพื่อให้ดูเป็นคนที่เข้าถึงง่าย เช่น เสื้อเชิ้ตสีอ่อนไม่ติดกระดุมบน กระโปรงมีลวดลายที่ไม่ฉูดฉาดเกินไป หรือกางเกงสแล็กสีกากี
แม้ในปัจจุบันหลายๆ องค์กรจะนิยมสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น แต่การเลือกชุดแต่งกายให้เหมาะสมก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นเดิม
8. มีเทคนิคในการตอบสัมภาษณ์งาน
หลังจากได้รับการเลือกให้เป็นแคนดิเดต และนัดสัมภาษณ์งาน หากคุณทำได้ไม่ดีก็อาจทำให้พลาดโอกาสที่จะได้งานได้ใหม่ไปได้ ซึ่งเทคนิคสำคัญที่จะช่วยให้การสัมภาษณ์ออกมาดี และเพิ่มโอกาสได้งาน มีดังนี้
- การฝึกตอบสัมภาษณ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอื่นๆ แม้ว่าองค์กรหรือสายงานของคุณจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาต่างประเทศ เช่น จีน หรือญี่ปุ่น แต่หลายๆ องค์กรในปัจจุบันก็มองหาคนที่มีความเข้าใจภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นเหมือนภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสาร ดังนั้น จึงอาจมีการสัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษแบบไม่แจ้งล่วงหน้า การฝึกตอบคำถามทั้งไทยและอังกฤษจะช่วยลดความตื่นเต้นและช่วยให้การสัมภาษณ์ราบรื่นขึ้นได้
- ฝึกภาษากายที่แสดงออกถึงความมั่นใจ นอกจากการฝึกตอบคำถามแล้ว การฝึกภาษากาย (Body Language) ก็จะช่วยปรับบุคลิกภาพและทำให้คุณดูโดดเด่นในการสัมภาษณ์ได้ เช่น การฝึกสบตากับคู่สนทนา หรือการเลือกใช้น้ำเสียงให้เหมาะสม
- ไม่พูดแง่ลบจนเกินไป เช่น การพูดถึงทักษะการทำงาน หรือความสามารถ เพราะอาจทำให้ดูเป็นคนขาดความมั่นใจได้ นอกจากนี้ ไม่ควรพูดถึงเพื่อนร่วมงาน หรือที่ทำงานเดิมในแง่ร้าย เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์กลายเป็นคนไม่น่าคบหา และยึดติดกับอดีต
- พูดแต่ความจริง แม้ว่าจะต้องการหางานใหม่ให้ได้เร็วๆ แต่การโกหกตั้งแต่ยังไม่เริ่มงานคือสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง หากทางองค์กรตรวจพบอาจส่งผลต่อประวัติ หรือความน่าเชื่อถือของคุณได้
- เล่าประสบการณ์การทำงาน เช่น ปัญหาที่เคยเจอ และแนวทางการแก้ไข เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงศักยภาพการทำงานของคุณมากยิ่งขึ้น
9. ติดตามผลการสัมภาษณ์งาน
การติดตามผลการสัมภาษณ์งานเป็นอีกสิ่งที่หลายๆ คนหลงลืม แต่ในความเป็นจริง ถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้หางานใหม่ได้เร็วมากขึ้น ไม่ว่าจะได้รับผลการสัมภาษณ์หรือไม่ หลังการสัมภาษณ์คุณสามารถส่งจดหมายขอบคุณสำหรับโอกาส ซึ่งจะช่วยแสดงออกถึงความกระตือรือร้นสำหรับตำแหน่งงานนั้นๆ นอกจากนี้ ในกรณีที่ได้รับอีเมลปฏิเสธ การขอฟีดแบ็กเกี่ยวกับสัมภาษณ์ ก็จะช่วยให้คุณสามารถพบข้อบกพร่อง และนำไปปรับปรุงในการสัมภาษณ์งานที่ใหม่ได้
สรุป
สำหรับผู้ที่กำลังหางานที่แรก หรือผู้มีประสบการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ สามารถนำ 9 วิธีหางานใหม่ให้ได้เร็วๆ ที่บทความนี้นำมาฝากไปปรับใช้กับการงานหางานของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น การตั้งเป้าหมายการหางานให้ชัดเจน การทำเตรียมเรซูเม่หรือ Portfolio ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการติดตามผลการสัมภาษณ์ เพื่อให้สามารถนำไปปรับปรุง และช่วยให้หางานใหม่ได้เร็วขึ้น