พนักงานเงินเดือนหลายคนมีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน แม้เงินจะพอใช้ในทุกวันก็จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนขึ้นมา เงินที่มีอยู่อาจจะไม่พอใช้จนทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินได้ ดังนั้น การวางแผนการออมเงินสำรองฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งที่พนักงานเงินเดือนหลายๆ คนไม่ควรมองข้าม
บทความนี้ CW Tower จะพาไปดูความสำคัญของการออมเงิน พร้อมแนะนำวิธีคำนวณเงินออมที่แต่ละคนควรมี ตามฐานเงินเดือนและการใช้จ่าย รวมถึงวิธีการออมเงินสำรองฉุกเฉินในแบบฉบับของคนที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเยอะ เก็บเงินไม่อยู่ ทำได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
Table of Contents
การออมเงิน สำคัญอย่างไร
การออมเงิน มีความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยให้มีเงินเก็บเป็นเงินสำรองในยามฉุกเฉิน ไม่ต้องมาใช้เงินแบบเดือนชนเดือนแบบไร้จุดหมาย ลดความเครียดทางการเงิน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนเพื่ออนาคตได้อีกด้วย
มนุษย์เงินเดือน ควรมีการออมเงินเพื่อสำรองเท่าไรดี
โดยปกติแล้ว มนุษย์เงินเดือนควรมีการออมเงินสำรองเพื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น หากมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 45,000-90,000 บาท เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การตกงาน เข้าโรงพยาบาล ซ่อมรถ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
โดยใครที่ยังไม่เคยเริ่มต้นออมเงินมาก่อน อาจจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าในแต่ละเดือนจะออมเท่าไร เช่น 3% ของเงินเดือน แล้วค่อยๆ เก็บออมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน เช่น หากมีเงินเดือน 20,000 ควรแบ่งเก็บอย่างน้อย 600 บาทต่อเดือน
ข้อดีของการออมเงิน
ไม่ว่าจะเป็นคนที่ใช้เงินเก่ง มีรายรับ-รายจ่ายมากแค่ไหน อยู่ในช่วงวัยใด หรือมีไลฟ์สไตล์แบบไหน หากออมเงินได้ จะเกิดข้อดีต่างๆ ดังนี้
- ทำให้ชีวิตไร้หนี้ การออมเงินจะทำให้เรามีเงินก้อนมาใช้จ่ายค่าผ่อนมือถือ ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าผ่อนบ้านได้โดยไม่กระทบต่อชีวิตประจำวัน หากจัดสรรปันส่วนได้เป็นอย่างดี เงินเก็บนี้ก็จะช่วยให้ชำระหนี้ได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงเรื่องการชำระล่าช้าจนทำให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่ม หรือต้องไปกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยสูง
- ช่วยสร้างความมั่นคงให้ชีวิต การเก็บออมจะช่วยให้มีเงินก้อนไว้รองรับความเสี่ยงในการใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น หากวางแผนออมเงินไว้ต่อเนื่องก็ทำให้สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจได้ หรือเมื่อตกงานกะทันหันก็ยังมีเงินสำรองไว้ใช้จ่าย ทำให้มีเงินใช้เพียงพอ ช่วยให้ชีวิตมั่นคง
- ทำให้สุขภาพทางการเงินแข็งแรง หากสามารถเก็บเงินได้อย่างมีวินัยก็จะส่งผลให้สุขภาพทางการเงินดีขึ้นได้ ป้องกันการเกิดหนี้สินจากการใช้จ่ายเกินตัว รวมถึงยังสามารถลดความเครียดจากภาระทางการเงินได้อีกด้วย
- สามารถเกษียณก่อนอายุได้ การวางแผนออมเงินล่วงหน้า ทำให้ลดความกังวลต่อค่าใช้จ่ายในอนาคต หากเริ่มเก็บออมเร็ว ก็สามารถเกษียณเร็วกว่าคนอื่นได้ เพราะมีอิสรภาพทางการเงินมากขึ้นในระยะยาว
7 วิธีการออมเงิน ฉบับคนใช้เงินเก่ง เก็บเงินไม่อยู่
หลายคนอาจเคยชินกับการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทำให้เก็บออมได้ยาก แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเริ่มต้นเก็บเงินอย่างจริงจัง สามารถทำได้โดยใช้เทคนิค ดังนี้
1. แยกบัญชีเงินออม
วิธีแรกในการออมเงินที่ง่ายที่สุดคือการแยกบัญชีเงินออม คือการเปิดบัญชีธนาคารไว้สำหรับเก็บออมโดยเฉพาะ โดยจะแยกจากบัญชีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกทั้ง ควรหลีกเลี่ยงการถอนเงินจากบัญชีนี้มาใช้ หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ
2. แบ่งเงินออมรายเดือนก่อนใช้จ่าย
การแบ่งเงินออมรายเดือนก่อนใช้จ่ายเป็นอีกวิธีที่หลายคนนิยมทำ คือการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไปออมทันทีเมื่อได้รับเงินเดือน ก่อนจะนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายในด้านอื่นๆ วิธีนี้จะทำให้สร้างวินัยในการออมได้ ไม่รอให้เงินเหลือแล้วค่อยมาออม รวมถึงเป็นการฝึกใช้เงินในจำนวนที่น้อยลง ช่วยให้ระมัดระวังในการใช้จ่าย หากมีเหตุฉุกเฉินหรือรายได้ลดลงก็สามารถปรับตัวในการใช้เงินได้
วิธีการคือเมื่อได้เงินเดือนมา 20,000 บาท ตั้งเป้าในการออมไว้ทั้งหมด 15% ก็แบ่งเงินจำนวน 3,000 บาทไปยังบัญชีออมทรัพย์ ส่วนเหลือเงินอีก 17,000 บาทไว้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตลอดเดือน
3. ตั้งค่าหักเงินออมอัตโนมัติ
สำหรับคนที่อยากสร้างวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องจำ หรือมาตัดสินใจทุกครั้งก่อนออมเงิน การตั้งค่าหักเงินออมอัตโนมัติจะช่วยให้การออมง่ายขึ้น โดยการกำหนดให้แอปพลิเคชันทางการเงินโอนเงินจากบัญชีหลักไปยังบัญชีออมทรัพย์โดยอัตโนมัติ ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนดไว้
ตัวอย่างเช่น มีเงินเดือน 20,000 บาท ต้องการเก็บออมเดือนละ 20% ก็ตั้งค่าให้ธนาคารโอนเงิน 4,000 บาทจากบัญชีหลักไปยังบัญชีออมทรัพย์ ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน การทำแบบนี้จะช่วยให้ไม่ลืมเก็บออม ป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว เพราะมีเงินออมที่ถูกหักออกไปแล้วอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังสามารถนำเงินออมสะสมไปลงทุนอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้
4. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
การออมเงินโดยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอาจจะเป็นวิธีที่ซับซ้อน เพราะต้องมีการจดบันทึกเงินที่ได้รับและเงินที่ใช้จ่ายไปแต่ละวัน แต่วิธีนี้ช่วยให้สามารถติดตามหรือวิเคราะห์แนวทางการใช้เงินของตนเองได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถจดบันทึกได้ในสมุด สเปรดชีต หรือแอปพลิเคชัน โดยทำได้ตามขั้นตอนดังนี้
- เริ่มจากการบันทึกรายรับและรายจ่ายต่างๆ ของตนเอง
- แยกทุกรายการออกเป็นหมวดหมู่ เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก หรืออื่นๆ เป็นต้น
- สรุปรวมเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน เพื่อนำมาวิเคราะห์แล้วปรับปรุงการใช้จ่ายของตนเองทีหลัง
หากทำตามวิธีนี้ได้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้วางแผนทางการเงินได้ดีขึ้น เพราะสามารถเห็นภาพรวมทางการเงินว่าได้รับมาเท่าไร จ่ายออกไปเท่าไร เมื่อเห็นรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยก็สามารถตัดออกไปได้ ทำให้ควบคุมพฤติกรรมการใช้จ่ายได้ดีขึ้น ได้ข้อมูลจริงในการตั้งงบสำหรับการใช้จ่ายสำหรับเดือนถัดไป ส่งผลให้มีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
5. ใช้เงินตามหลัก 50-30-20
หลักการ 50-30-20 คือแนวทางการจัดสรรเงินที่ช่วยให้จัดการการเงินส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้มีเงินเพียงพอต่อทุกความต้องการ สามารถใช้จ่ายเงินได้อย่างมีความสุข ลดความเครียดทางการเงิน เพราะคุมการใช้จ่ายได้ง่ายและเห็นภาพรวมการใช้จ่าย นอกจากนี้ยังช่วยสร้างนิสัยในการออม ถือเป็นการเพิ่มมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โดยหลักการนี้จะแบ่งรายได้ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
- เงินสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น 50%
- เงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องการ 30%
- เงินสำหรับการออมและการชำระหนี้ 20%
ตัวอย่างเช่น มีเงินเดือน 20,000 บาท สามารถแบ่งใช้ตามหลัก 50-30-20 ดังนี้
- 50% : 10,000 บาท ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร
- 30% : 6,000 บาท ค่าใช้จ่ายจิปาถะ เช่น สำหรับการช็อปปิง ความบันเทิง การเที่ยว
- 20% : 4,000 บาท การเก็บออมเงินและการชำระหนี้ (หากมี)
6. ออมเงินด้วยเศษเหรียญ
การออมเงินด้วยเศษเหรียญ คือวิธีการเก็บออมเงินโดยการสะสมเหรียญที่ได้รับจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นวิธีที่ง่ายและไม่กระทบต่อการใช้จ่ายหลัก สามารถทำได้โดยเตรียมกระปุกออมสินสำหรับเก็บเหรียญ ทุกครั้งได้รับเงินทอนเป็นเหรียญให้เก็บแยกไว้ เลือกว่าอยากเก็บทุกเหรียญหรือเฉพาะประเภท จากนั้นกำหนดระยะเวลาในการออม เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี เป็นต้น เมื่อครบกำหนดค่อยนำไปฝากธนาคารหรือนำไปลงทุน
เมื่อออมเงินด้วยเหรียญเป็นประจำจะทำให้เกิดนิสัยออมเงินโดยไม่รู้ตัว เพราะสามารถออมได้ง่ายๆ เห็นจำนวนเหรียญที่สะสมก็มีแรงจูงใจในการออมมากขึ้น และไม่กระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังสามารถเป็นการออมเงินสำรองเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินได้
ตัวอย่างเช่น หากอยากเก็บออมเป็นเหรียญ 5 บาท ทุกครั้งที่ซื้อของแล้วได้รับเหรียญ 5 บาทเป็นเงินทอน ให้นำไปหยอดใส่กระปุกออมสิน ทำทุกวันแล้วอาจจะได้เงินสะสมประมาณ 1,800 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้จ่ายด้วย
7. อย่าใช้ธนบัตร 50
วิธีนี้คล้ายกับการออมเงินด้วยเศษเหรียญแต่เปลี่ยนจากเหรียญมาเป็นธนบัตร 50 บาท ซึ่งเป็นเทคนิคการออมเงินที่กำหนดให้เก็บธนบัตร 50 บาททุกใบที่ได้รับ แทนที่จะนำไปใช้จ่าย สามารถทำได้โดยตั้งกฎไว้ว่าจะไม่ใช่ธนบัตร 50 บาทเด็ดขาด
การออมเงินด้วยธนบัตร 50 บาท ช่วยให้เกิดการออมโดยอัตโนมัติจนสร้างเป็นนิสัยในการออมเงิน ฝึกความอดทนไม่ให้ใช้เงินในชีวิตประจำวันได้ดี เมื่อออมเรื่อยๆ จนเป็นเงินก้อนใหญ่ก็สามารถนำเงินตรงนี้ไปลงทุนหรือเป็นการออมเงินสำรองเพื่อใช้ยามฉุกเฉินได้
สรุป
การออมเงินช่วยให้มีเงินสำรองในยามฉุกเฉิน ไม่ต้องมาใช้เงินแบบเดือนชนเดือน รวมทั้งยังเพิ่มโอกาสในการลงทุน หากสามารถออมเงินได้อย่างต่อเนื่องจะทำให้ชีวิตไร้หนี้ ทำให้ชีวิตมีความมั่นคง สุขภาพทางการเงินแข็งแรง และวางแผนเกษียณก่อนอายุได้ โดยมีวิธีออมเงินตามเทคนิคที่แนะนำอย่างการแยกบัญชีเงินออม แบ่งเงินออมรายเดือนก่อนนำไปใช้จ่ายอื่นๆ ตั้งค่าหักเงินออมอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร ทำรายรับ-รายจ่าย ใช้หลัก 50-30-20 ออมเงินด้วยเศษเหรียญหรือธนบัตร 50 บาท ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ให้ตรงกับสไตล์การใช้จ่ายของแต่ละคน เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ยามจำเป็นและมีออมเงินเพื่ออนาคต