ต่อรองเงินเดือนยังไงดี ? ทำงานตั้งนานได้เงินเดือนเด็กจบใหม่

เทคนิคต่อรองเงินเดือน

มีใครที่กำลังประสบกับปัญหาทำงานมาสักพักแล้ว แต่เงินเดือนแทบไ่ม่ขยับบ้าง? หากรู้สึกทำงานมานาน แต่ได้เงินเดือนเด็กจบใหม่ คงจะอยู่เฉยไม่ได้ อย่าลืมว่าคุณมีสิทธิ์เจรจาต่อรองเงินเดือน ถ้ารู้สึกว่าค่าตอบแทนดูไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน หรือประสบการณ์ของคุณอีกต่อไป แน่นอนว่า ถ้าคุณทำให้บริษัทเห็นถึงศักยภาพของคุณ โอกาสอัปเงินเดือนก็อยู่แค่เอื้อมเท่านั้น

การต่อรองเงินเดือนถือเป็นทักษะการเจรจาสื่อสารอย่างหนึ่ง หลายคนไม่กล้าต่อรองเงินเดือน มีการศึกษาพบว่าราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานไม่เคยต่อรองขอขึ้นเงินเดือนเลยแม้แต่ครั้งเดียว เหตุผลก็มีหลากหลายไม่ว่าจะความกลัว ความไม่มั่นใจ ไม่อยากดูเรียกร้องมากจนเกินไป ซึ่งถ้าไม่อยากได้เงินเดือนที่ไม่เหมาะสม ก็ควรกล้าต่อรอง และทิ้งความกลัวเหล่านั้นไป เพราะเงินเดือนที่ไม่มีท่าทีว่าจะเพิ่มขึ้น หรือเงินเดือนน้อยกว่าศักยภาพการทำงานของเรา ย่อมน่ากลัวกว่าการต่อรองเงินเดือนเสียอีก

Table of Contents


การต่อรองเงินเดือน

การต่อรองเงินเดือน คืออะไร

ไม่ว่าคุณเพิ่งเข้าทำงาน หรือทำงานมาสักระยะหนึ่งแล้ว การต่อรองเงินเดือนก็มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับตัวคุณทั้งนั้น แต่การต่อรองเงินเดือนคืออะไร? เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนวัยทำงานจำเป็นต้องรู้ การต่อรองเงินเดือนไม่เพียงแต่หมายถึง การเจรจาต่อรองระหว่างคุณกับบริษัท เพื่อให้ได้เงินเดือนที่สูงขึ้น แต่รวมถึงการเจรจาในกรณีที่บริษัทไม่ต้องการให้คุณออก และยื่นข้อเสนอต่างๆ ให้ เช่น เพิ่มเงินเดือน หรือเปลี่ยนตำแหน่งงานที่สูงขึ้น เป็นต้น

เมื่อคุณรู้ว่าตัวเองมีทักษะความสามารถ ศักยภาพ และประสบการณ์ที่มากพอ แต่ค่าตอบแทนที่บริษัทเสนอ หรือเงินเดือนที่คุณได้มาจากการทำงานให้บริษัทยังน้อยเกินไป อย่าลังเลที่จะต่อรอง เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อตัวของคุณเอง ไม่ใช่แค่ในปัจจุบัน แต่ยังเป็นผลดีในระยะยาว

ความสำคัญของการต่อรองเงินเดือน

ความสำคัญของการต่อรองเงินเดือน

การต่อรองเงินเดือน คือ สิ่งสำคัญในชีวิตการทำงาน ถือว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องปกติของการจ้างงาน และยังมีความสำคัญในแง่ของคุณค่าในการทำงาน เพราะเงินเดือน คือ สิ่งที่แสดงออกถึงการที่บริษัทมองเห็นคุณค่า และศักยภาพในการทำงานของคุณ ซึ่งเงินเดือนที่คุณได้ ถือเป็นการสนับสนุนจากบริษัทที่ครอบคลุมในหลายๆ ด้าน เช่น ความสมดุลของชีวิต ความก้าวหน้า ความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงผลประโยชน์ด้านสุขภาพ และสวัสดิการต่างๆ อีกด้วย

ขั้นตอนในการเตรียมตัวต่อรองเงินเดือน

ขั้นตอนในการเตรียมตัวต่อรองเงินเดือน

คิดจะต่อรองเงินเดือนทั้งที ก็ต้องมีการเตรียมพร้อม ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งงานไหน การเตรียมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การเจรจาต่อรองเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด แถมยังลดความกลัวในการต่อรองได้อีกด้วย มาดูวิธีเตรียมตัวต่อรองเงินเดือนที่จะทำให้คุณไม่ต้องทนกับการทำงานมาตั้งนาน แต่ยังได้เงินเดือนเด็กจบใหม่อยู่

1. สร้างตัวตนของตนเอง

การทำการบ้านก่อนลงมือเจรจาต่อรองเงินเดือนเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ เพราะการเตรียมตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง การสร้างตัวตนของตัวเอง จึงเป็นจุดสำคัญที่ต้องมีการเตรียมความพร้อม คุณควรดึงจุดเด่น หรือจุดแข็งที่ตนเองมีออกมานำเสนอ เช็กตัวเองว่าตัวเรานั้นมีความสามารถอะไรที่โดดเด่น และทำได้ดีกว่าคนอื่น นำมาสร้างความแตกต่างระหว่างตัวเราเองกับพนักงานคนอื่นในตำแหน่งเดียวกัน เพื่อให้บริษัทเห็นว่าคุณนั้นคู่ควรกับเงินเดือนที่สูงขึ้น 

2. เตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับการคัดค้าน

เมื่อตัดสินใจที่พูดคุยต่อรองเงินเดือนแล้ว แต่ไม่หนักแน่นพอ หรือแสดงความมั่นใจออกไป โอกาสที่ข้อเสนอจะถูกปัดตกก็เป็นไปได้สูงมาก ถ้าคุณมั่นใจในศักยภาพของตนเองก็ต้องกล้าที่จะยืนหยัดในความสามารถ และศักยภาพ สื่อสารออกไปอย่างชัดเจนถึงความต้องการอย่างหนักแน่น อย่ากลัวที่จะถูกปฏิเสธ หรือถูกคัดค้าน ดังนั้น จึงต้องเตรียมตัวตอบคำถามให้ดีว่าทำไมเราถึงควรได้เงินเดือนเท่านี้ บางครั้งข้อเสนออาจจะถูกลดลงจากที่คุณตั้งเป้าไว้ ในจุดนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณว่ายอมรับได้ไหม 

เทคนิคสำหรับการต่อรองเงินเดือน

เทคนิคสำหรับการต่อรองเงินเดือน

หากไม่อยากเงินเดือนหยุดไว้ที่เงินเดือนเด็กจบใหม่ คุณต้องรู้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้การเจรจาต่อรองเงินเดือนง่ายขึ้นเยอะ นอกจากนี้ การมีเทคนิคดีๆ ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้เงินเดือนที่หวังไว้ ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งยังเป็นการรักษาผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ แบบไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับบริษัทอีกด้วย

1. คำนวณเงินเดือนมาก่อนล่วงหน้า

การเจรจาต่อรองเงินเดือนไม่ใช่ว่าคิดขึ้นมาเองแบบลอยๆ อย่างนี้โอกาสที่จะอัปเงินเดือนอาจหายไปกับสายลมคุณควรคิดคำนวณดูว่าที่ผ่านมา คุณได้ทำอะไรให้กับบริษัทบ้าง ความสามารถของคุณอยู่ในระดับไหน แล้วจึงเลือกระดับเงินเดือนให้เหมาะสมกับศักยภาพ การคำนวณเงินเดือนมาก่อนล่วงหน้ายังช่วยให้คุณเห็นภาพของการทำงานที่ผ่านมา และสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาสนับสนุนข้อเสนอของคุณได้อย่างดีมากยิ่งขึ้น

2. รู้จักความสามารถ และการทำงานของตนเอง

การรู้จักความสามารถ และการทำงานของตนเองที่ผ่านมาในบริษัทที่ทำอยู่ รวมถึงประสบการณ์การทำงานของตัวเอง จะช่วยทำให้คุณเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมถึงอยากขอต่อรองเงินเดือนให้เพิ่มขึ้น โดยคุณควรศึกษาว่าการทำงานในตำแหน่งที่คุณทำอยู่นั้น เงินเดือนโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่เท่าไร อัตราความก้าวหน้าควรอยู่ที่เท่าไร จากนั้น ตรวจสอบตนเองว่ามีศักยภาพขนาดไหน หากเห็นว่าค่าตอบแทนปัจจุบันน้อยเกินไป ไม่สมเหตุสมผล ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรจะเสนอขอเพิ่มเงินเดือน

3. เลือกเวลาที่ใช่

เชื่อไหมว่า การเลือกเวลาที่ใช่ ส่งผลต่อการถูกพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนได้ด้วย ถึงแม้ว่าคุณจะรู้สึกว่านี่ก็นานมาแล้ว ถ้านับจากครั้งล่าสุดที่ถูกขึ้นเงินเดือน แต่คุณก็ไม่ควรผลีผลามเข้าไปคุยกับหัวหน้า เพื่อขอเงินเดือนเพิ่ม เพราะจริงๆ แล้วยังมีวิธีสังเกตว่าเวลาไหนที่เหมาะจะขอเจรจาต่อรองเงินเดือน เช่น หลังจากที่คุณทำโปรเจ็กใหญ่สำเร็จ หรือเลือกเวลาที่หัวหน้าอารมณ์ดีๆ แต่มีอีกทริคหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย คือ การขอเจรจาต่อรองเพิ่มเงินเดือนในวันพฤหัสบดี งานวิจัยพบว่าโอกาสที่การขอขึ้นเงินเดือนสำเร็จในวันนี้มีมากขึ้น ยังไงก็ลองนำเอาไปปรับใช้กันดูได้

4. กล้าที่จะต่อรอง

หลายคน ‘กลัว’ ที่จะต่อรอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หากคุณมั่นใจแล้วว่ามันถึงเวลาอันสมควรที่จะขอปรับขึ้นเงินเดือน จง ‘กล้า’ ที่จะต่อรอง ไม่ต้องรู้สึกเกรงใจ หรือรู้สึกไม่ดี แต่ควรสื่อสารเพื่อบอกความต้องการของตัวเองออกไป ความมั่นใจจะช่วยเพิ่มน้ำหนักในเวลาที่คุณยื่นข้อเสนอต่อรองเงินเดือนกับบริษัท เพราะความมั่นใจสื่อถึงความพร้อม การรู้จักคุณค่าของตนเอง และความมั่นใจในศักยภาพของตนเองมากพอที่สมควรจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น

5. ความอ่อนน้อมถ่อมตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคุณสมบัติที่ไม่ว่าเวลาผ่านไปแค่ไหน มันก็ยังเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ความกล้า และความมั่นใจไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนก้าวร้าว ไม่รู้จักกาลเทศะ แต่เป็นคนที่มีความมั่นใจ นอบน้อม และถ่อมตนด้วย สิ่งเหล่านี้ สามารถทำให้ใครๆ ก็ต่างประทับใจในตัวคุณได้แบบง่ายๆ ซึ่งทริคที่ช่วยเพิ่มความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ สีหน้า แววตา และคำพูด

ลองใช้คำพูดที่หนักแน่นแต่ไม่แข็งกร้าว ใช้สายตาที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ เป็นมิตร และยิ้มแย้มเสมอ ไม่ทำหน้าบูดบึ้ง ถึงแม้อีกฝ่ายอาจจะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการต่อรองเงินเดือนของคุณ คุณก็ไม่ควรแสดงอาการหัวเสีย แต่ให้ใช้ความอ่อนน้อมอธิบายอย่างใจเย็นว่าทำไมคุณสมควรที่จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในครั้งนี้แทน

สรุป

การต่อรองเงินเดือน คือ การเจรจาต่อรองระหว่างคุณกับบริษัท เพื่อขอเงินเดือนที่สูงขึ้น หรือสวัสดิการต่างๆ  โดยจะพิจารณาจากความสามารถในการทำงาน และผลงานที่ทำให้บริษัท ซึ่งการจะต่อรองให้สำเร็จจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวที่ดี ใช้ทักษะการพูดที่ชาญฉลาด และต้องมีเทคนิคที่ช่วยให้การต่อรองเงินเดือนมีโอกาสประสบความสำเร็จ การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น จนได้รับเงินเดือนตามที่ใจหวังไว้ ซึ่งเทคนิคการเตรียมพร้อมเหล่านี้จะทำให้คุณมีความมั่นใจ และไม่กลัวการขอขึ้นเงินเดือนอีกต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

23 สิงหาคม 2024
23 สิงหาคม 2024
22 สิงหาคม 2024
05 กรกฎาคม 2024
05 กรกฎาคม 2024
05 กรกฎาคม 2024

เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้แบ่งปันข้อมูลดี ๆ ให้กับคุณ

หากคุณต้องการ เช่าออฟฟิศ สามารถติดต่อเราได้เลย