Personal Branding คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านการสร้างตัวตนแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เพราะการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ต้องอาศัยการสร้างจุดเด่นและคุณค่าของแบรนด์ เพื่อให้แบรนด์หรือธุรกิจของคุณโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่นๆ ซึ่งจะเป็นการดึงดูดลูกค้า ช่วยสร้างฐานผู้ติดตาม และส่งเสริมโอกาสใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ของคุณได้ดีมากยิ่งขึ้น บทความนี้ จึงอยากชวนไปดูเคล็ดลับการสร้าง Personal Branding ว่าสามารถทำได้อย่างไรบ้าง พร้อมข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ ที่ต้องรู้ เกี่ยวกับการทำ Personal Branding
Table of Contents
มารู้จัก Personal Branding คืออะไร?
Personal Branding แปลว่า การสร้างแบรนด์บุคคล การสร้างภาพจำ หรือภาพลักษณ์ของตัวแบรนด์ หรือบุคคลให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และสร้างการจดจำให้กับกลุ่มเป้าหมายหรือคนอื่นๆ ให้ได้รับรู้การมีอยู่ของแบรนด์ หรือตัวตนของบุคคล โดยนำเสนอผ่านโฆษณา การทำคอนเทนต์ หรือการเล่าเรื่อง ที่เมื่อพูดถึงแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ก็จะนึกออกได้ทันทีว่า แบรนด์นี้มีแนวคิดอย่างไร ยึดถือคุณค่าอะไร หรือมีลักษณะแบบไหน
ความสำคัญของการทำ Personal Branding
ความสำคัญของการทำ Personal Branding คือการเป็นตัวช่วยในการสร้างตัวตนของแบรนด์ให้น่าจดจำ เจาะกลุ่มผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น และสร้างแรงกระตุ้นที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า หรือการใช้บริการ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ Personal Branding ทำให้แบรนด์โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ จดจำง่าย และหากแบรนด์มีกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา อินฟลูเอนเซอร์ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของแบรนด์อยู่ ก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจมากขึ้น ต่างจากแบรนด์ที่ไม่ทำ Personal Branding นั่นเอง
ข้อดี-ข้อเสีย ของการทำ Personal Branding
การทำ Personal Branding ช่วยทำให้แบรนด์โดดเด่น เป็นที่น่าจดจำ และทำให้แบรนด์ของคุณแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ซึ่งการทำ Personal Branding ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้ ดังนี้
ข้อดีของการทำ Personal Branding
- Personal Branding ส่งผลให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะการที่แบรนด์มีอัตลักษณ์ และจุดยืนที่ชัดเจน ก็จะสามารถนำเสนอสิ่งต่างๆ ออกมาได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ เพราะโลกออนไลน์ที่มีการแข่งขันสูง การที่ดึงจุดเด่นของ Personal Branding ของตนเองออกมาปรับใช้ ก็จะทำให้แบรนด์โดดเด่นและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
- ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าสนใจแบรนด์มากขึ้น การสร้าง personal branding ให้เป็นที่น่าจดจำ มีความน่าเชื่อถือ มีเอกลักษณ์และดูโดดเด่น แน่นอนว่าช่วยดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี
- Personal Branding ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าจากสินค้า การบริการ หรืออื่นๆ ที่จะทำให้แบรนด์เหนือกว่าคู่แข่ง
- ช่วยต่อยอดเครือข่ายทางธุรกิจ เมื่อแบรนด์มีตัวตน มีเป้าหมายที่ชัดเจน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำธุรกิจนั้นๆ ก็สามารถสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้เติบโตได้ง่ายขึ้น
ข้อเสียของการทำ Personal Branding
- Personal Branding อาจไม่เหมาะกับคนที่มีโลกส่วนตัวสูง หรือไม่ค่อยกล้าแสดงออก เพราะการทำ Personal Branding ต้องแสดงออก และมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า หรือคนอื่นๆ อยู่เสมอ
- หากใช้ชื่อแบรนด์สะกดยาก ตัวอักษรเยอะเกินไป อาจทำให้การค้นหาชื่อของแบรนด์ทำได้ยากขึ้น จึงควรใช้ชื่อที่มีจุดเด่น เป็นเอกลักษณ์ จำง่าย และสะกดง่าย เพื่อให้สะดวกต่อการค้นหา
- หากเป็นชื่อทั่วไปที่ซ้ำกับแบรนด์อื่นๆ อาจทำให้การที่กลุ่มเป้าหมายจะเจอแบรนด์ของคุณเป็นเรื่องยาก จึงควรสร้างชื่อให้เป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำกับใครจะดีกว่า
สร้าง Personal Branding อย่างไรให้น่าสนใจ
เมื่อเข้าใจถึงภาพรวมของ Personal Branding ก็มาดูเทคนิคการสร้าง Personal Branding ให้น่าสนใจ และมีประสิทธิภาพ ที่มีประโยชน์ต่อตัวคุณและแบรนด์ของคุณ ดังนี้
1. รู้จักตัวตนของแบรนด์
ก่อนเริ่มลงมือทำอะไร ควรรู้จักตัวตนของแบรนด์ให้ดีเสียก่อน เพราะ Personal Branding เป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนที่จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ และส่งผลต่อการสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์ โดยการทำ Personal Branding ต้องรู้ว่าเราคือใคร มีจุดมุ่งหมายอะไร ดึงความโดดเด่น และหาจุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเองให้เจอ เพื่อให้เห็นภาพรวมของ Personal Branding ได้ชัดเจน
2. สร้างภาพลักษณ์ที่อยากให้คนรู้จัก
ประโยคที่ว่า “อยากให้คนอื่นมองเราเป็นแบบไหน ก็ควรแสดงออกแบบนั้น” คงไม่เกินจริงกับโลกยุคใหม่ที่ใช้สื่อโซเชียลเป็นหลัก ทำให้การสร้าง Personal Branding ให้ภาพลักษณ์ดูน่าสนใจถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวคุณ และทำให้แบรนด์ดูน่าสนใจมากขึ้น อย่างการดูองค์ประกอบโดยรวม เช่น การกำหนดภาพลักษณ์ของแบรนด์ การแสดงออกของตัวบุคคล สโลแกนประจำแบรนด์ หรือโลโก้ของแบรนด์
3. กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
การสร้าง Personal Branding ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการสื่อสารกับใครบ้าง เพราะเมื่อได้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะทำให้สื่อสารได้ตรงจุด และช่วยเพิ่มการรับรู้ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นอีกด้วย โดยอาจลองกำหนดกลุ่มเป้าหมายทั่วๆ ไปจากเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ ความสนใจ หรือกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง เช่น กลุ่มเด็กนักเรียน กลุ่มวัยทำงาน หรือกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น
4. กำหนดจุดยืนที่ชัดเจน
การไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนจะทำให้เกิดการไขว้เขว และหลงทางได้ง่ายๆ ดังนั้น จึงควรกำหนดจุดยืนของแบรนด์ให้ชัดเจน เช่น กำหนดจุดยืนว่าแบรนด์ของเราคือใคร มีความพิเศษที่โดดเด่น หรือแบรนด์ของเราแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ อย่างไร ซึ่งการกำหนดจุดยืนให้ชัดเจนจะทำให้คุณสามารถกำหนดทิศทาง และเป้าหมายในการสร้าง Personal Branding ได้ดีมากยิ่งขึ้น
5. สร้างเว็บไซต์ และสื่อโซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบสำคัญอย่างเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ อย่าลืมว่าเวลาที่ลูกค้า หรือคนอื่นๆ เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ ก็ต้องการความสะดวก รวดเร็ว พร้อมช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และตอบสนองความต้องการได้ หากเว็บไซต์โหลดนานเกินไป ทำอะไรไม่สะดวก ก็อาจทำให้เสียลูกค้าไปได้ง่ายๆ สำหรับการทำ Personal Branding ด้วยเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มโซเชียลที่ดี ควรมีเนื้อหากระชับ อ่านง่าย เข้าใจได้ไว พร้อมรูปภาพประกอบ หรือบทความที่เกี่ยวข้อง
6. จริงใจกับกลุ่มลูกค้า
หัวใจสำคัญสำหรับการทำ Personal Branding คือ การมีความจริงใจกับกลุ่มลูกค้า เช่น เรื่องการสื่อสาร ภาพลักษณ์ หรืออื่นๆ เพราะPersonal Branding เป็นภาพสะท้อนตัวตน โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการมีความซื่อสัตย์ มีความใส่ใจ สื่อสารด้วยความจริงใจ และทำทุกสิ่งให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ หรือตัวตนของแบรนด์
7. สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ
คอนเทนต์ที่น่าสนใจย่อมช่วยดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มากกว่า ซึ่งการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำ Personal Branding โดยการเริ่มสร้างคอนเทนต์ ควรวางแผนก่อนว่าจะทำคอนเทนต์รูปแบบไหนดี และลิสต์ออกมาเป็นหัวข้อเพื่อให้เห็นภาพ และที่สำคัญคือคอนเทนต์ต้องน่าสนใจ ไม่ส่งผลเสียต่อแบรนด์ และควรมีความสม่ำเสมอในการเผยแพร่เนื้อหาด้วยเช่นกัน
8. สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง
การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่การที่สำคัญในการสร้าง Personal Branding โดยการสร้างเครือข่ายเปรียบเสมือนกับกลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน มาอยู่รวมกัน มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความสนใจ ทำให้คนอื่นๆ ได้มีส่วนร่วม ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดี วิธีการสร้างเครือข่ายที่นิยมกันบนโลกออนไลน์ เช่น การทำ Facebook Fanpage การทำ Line OpenChat หรือการสร้างกลุ่มสำหรับพูดคุยเรื่องต่างๆ เพื่อให้คนที่สนใจได้เข้าร่วม และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
9. หมั่นปรับปรุงภาพลักษณ์ของแบรนด์เสมอ
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ทั้งหมดโดยรวม คือสิ่งแรกที่ลูกค้ามองเห็น หากภาพลักษณ์ของแบรนด์ไม่ตรงกับจุดยืนที่วางเอาไว้ อาจทำให้แบรนด์สูญเสียตัวตน และทำให้ภาพลักษณ์ไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น การสร้าง Personal Branding จุดยืนและภาพลักษณ์ควรไปทิศทางเดียวกัน เห็นแล้วเข้าใจได้ทันทีว่าแบรนด์ต้องการสื่ออะไร หรือมีทิศทางแบบไหน ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์เป็นที่น่าจดจำได้มากขึ้น โดยสามารถทำได้ด้วยการปรับชื่อแบรนด์ เปลี่ยนโลโก้ และสโลแกนให้สอดคล้อง และไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง
ตัวอย่างการทำ Personal Branding จากแบรนด์ดัง
หากนึกภาพไม่ออกว่า Personal Branding ต้องทำยังไงแบบไหน ก็เลยมีตัวอย่างการทำ Personal Branding จากแบรนด์ดัง มาให้ได้ดูเป็นแนวทาง
Elon Musk - Twitter (X)
Elon Musk เป็นหนึ่งใน Personal Branding ที่เป็นบุคคลที่ได้รับความนิยม และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จากการประสบความสำเร็จจากธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จากแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla บริษัทเกี่ยวกับยานอวกาศ SpaceX และล่าสุดอย่างบริษัทแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Twitter ที่ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น X จนทำให้เป็นที่พูดถึงในกระแสสังคมอย่างต่อเนื่อง
Steve Jobs - Apple Inc
พ่อมดเเห่งวงการไอที ผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงวงการไอทีให้เติบโตอย่าง Steve Jobs ที่เป็นทั้งนักประดิษฐ์ นักธุรกิจ ผู้ก่อตั้ง Apple แบรนด์ที่คนนิยมทั่วโลก อีกทั้งยังมี Personal Branding ที่น่าจดจำ โดยเฉพาะเวลาเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ก็มักสวมใส่เสื้อคอเต่าสีดำ กับกางเกงยีนส์ แบรนด์หลักของ Steve Jobs ก็คือ Apple ที่แยกย่อยออกเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่าง iPhone, iPad, MacBook และอื่นๆ นอกจาก Personal Branding ของ Steve Jobs จะเป็นที่รู้จักและเป็นนิยมแล้ว ทางแบรนด์เองก็ยังมีนวัตกรรมที่ล้ำสมัย ดีไซน์สวยหรู มีสไตล์ไม่ซ้ำใคร ทำให้เป็นที่รอคอยเวลาเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ เสมอมา
Neil Patel - Ubersuggest
Neil Patel คือ หนึ่งใน Personal Branding ที่มีชื่อเสียงด้านการเป็นผู้ประกอบการ คนเขียนบล็อก นักการตลาด และนักลงทุน โดยมีผลงานการทำตลาดดิจิทัลเพื่อช่วยให้บริษัทชั้นนำเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ และทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว สหประชาชาติยอมรับว่าเขาเป็นผู้ประกอบการจาก 1 ใน 100 คน ที่ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่อายุไม่ถึง 35 ปี Neil Patel สร้าง Personal Branding จากความนิยม เพื่อสร้างเนื้อหา และบริการไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างเว็บวิเคราะห์คำค้นหา Ubersuggest และร่วมก่อตั้ง 4 บริษัท อย่าง Crazy Egg, Hello Bar, Kissmetrics และ QuickSprout การทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ นำเสนอความรู้ด้านการตลาดที่ครอบคลุม และนำไปปรับใช้ได้จริง ทำให้ Neil Patel เป็นที่รู้จักของคนในหมู่มาก ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้อ่านบล็อก และกลุ่มผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียมากกว่า 1 ล้านคนเลยทีเดียว
เจ๊ไฝ - ไข่เจียวปูในตำนาน
เจ๊ไฝ เจ้าของร้านอาหารแนวสตรีทฟู๊ด ย่านประตูผี กรุงเทพฯ การันตีระดับรางวัล มิชลินสตาร์ 1 ดาว โดยเจ๊ไฝมีชื่อเสียงโด่งดังจากเมนูเด็ดที่ใครๆ ต้องพูดถึง อย่าง เมนูไข่เจียวปู และอาหารอื่นๆ ที่ปรุงแต่งด้วยความร้อนจากเตาถ่าน รวมถึงเอกลักษณ์การแต่งกายอย่าง เสื้อยืด กางขายาว กับผ้ากันเปื้อน พร้อมหมวก และแว่นตาอันใหญ่ เพื่อกันความร้อน จนกลายเป็น Personal Branding ที่หลายคนจดจำได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ร้านเจ๊ไฝกลายเป็นร้านที่หลายคนนิยมทั้งไทย และชาวต่างชาติ มีลูกค้าแวะเวียนไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะคนธรรมดาทั่วไป หรือคนที่มีชื่อเสียง ต่างก็ต้องลองไปทานอาหาร หรือเมนูเด็ดประจำร้านเจ๊ไฝ
คุณแพร วทานิกา - Vatanika
คุณแพร วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ดีไซเนอร์ชื่อดัง เจ้าของห้องเสื้อ Vatanika เป็นที่รู้จักจากการทำเรียลลิตี้โชว์ลง YouTube อย่างรายการ This is me Vatanika โชว์ภาพลักษณ์ และไลฟ์สไตล์ จนเป็นกระแส เกิดวลีเด็ดมากมาย เช่น สาจ๋า, You can’t be me, I’m not a morning person และประโยคอื่นๆ เกิดเป็นการสร้าง Personal Branding ที่บ่งบอกตัวตนของคุณแพรและแบรนด์ Vatanika ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การเป็นที่รู้จักจากภาพลักษณ์ ไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา การทำงานที่เนี๊ยบทุกขั้นตอน ทำให้ทิศทางของแบรนด์ หรือตัวตนที่สื่อถึงผู้หญิงทุกคน คือการช่วยส่งเสริมความมั่นใจให้กับผู้หญิงยุคใหม่ กล้า ลงมือทำ และประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง
สรุป
การทำ Personal Branding คือ การสร้างภาพจำ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ หรือบุคคล เพื่อทำให้แบรนด์โดดเด่น มีเอกลักษณ์ เมื่อเห็นก็รู้ได้ทันทีว่าแบรนด์นี้คือใคร หรือเป็นแบรนด์เกี่ยวกับอะไร การสร้าง Personal Branding ทำได้โดยเริ่มต้นจากรู้จักตัวตน และภาพรวมของแบรนด์ จากนั้นกำหนดภาพลักษณ์ที่อยากให้เป็น กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมกับการสื่อสาร การทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่าง เช่น การที่คุณหมออยากทำช่อง YouTube ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ การดูแลตัวเอง และการแพทย์ต่างๆ กลุ่มเป้าหมาย คือ เข้าถึงได้ทุกเพศ และทุกวัย ภาพลักษณ์ต้องเข้าถึงง่าย ไม่เป็นทางการมากเกินไป และการทำคอนเทนต์ การเล่าเรื่องต้องย่อยง่าย ฟังเพลิน และไม่เป็นวิชาการมากเกินไป เป็นต้น
หากใครที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจ และกำลังสนใจเกี่ยวกับ Personal Branding ทาง CW Tower มีการสร้าง Personal Branding ที่ดีด้วยการสร้างพื้นที่อาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่สีเขียวให้ผ่อนคลาย ออกแบบด้วยการรับกับแสงธรรมชาติ ทำให้ไม่รู้สึกอุดอู้จนเกินไป ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงาน ที่จะช่วยให้คุณเปิดรับไอเดียใหม่ๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น