Quiet Quitting เทรนด์การทำงานของคนยุคใหม่ โดยมีความคิดว่าทำเฉพาะงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จไปวันๆ ไม่ทำเกินหน้าที่เพื่อตอบสนองความพอใจของเจ้านาย ไม่พยายามสร้างความประทับใจให้ใครทั้งนั้น ซึ่งลักษณะการทำงานที่กำลังเป็นกระแสนี้ ย่อมส่งผลกระทบในหลายด้าน
บทความนี้จึงอยากชวนไปทำความรู้จัก Quiet Quitting ให้มากขึ้น พร้อมหาคำตอบว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงมีความคิดเช่นนี้ และบริษัทจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง
Table of Contents
Quiet Quitting คืออะไร
Quiet Quitting คือการทำงานเฉพาะหน้าที่ที่กำหนดไว้ในคำบรรยายลักษณะงาน (Job Description) ไม่มีการทำงานที่นอกเหนือจากนั้นเป็นพิเศษ ไม่มีการทุ่มเทหรือพยายามเพื่อสร้างความประทับใจให้กับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน กล่าวง่ายๆ คือเป็นการเลิกทำงานเกินหน้าที่ ทำเฉพาะงานที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบในตำแหน่งของตัวเองเท่านั้น รวมถึงปฏิเสธที่จะทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การตอบอีเมลในวันหยุด งานพิเศษที่เกินหน้าที่หลัก เป็นต้น
ซึ่งแนวคิดการทำงานนี้ได้รับความสนใจและเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นจากคลิปไวรัลใน TikTok ของผู้ใช้ที่ชื่อ @zaidleppelin หรือ Zaid Khan วิศวกรจากนิวยอร์ก ที่กล่าวว่า Quiet Quitting ไม่ใช่การลาออกจากงาน แต่เป็นการลาออกจากแนวคิดที่เน้นให้ทุ่มเททำงานจนหนัก เพราะงานไม่ใช่ชีวิตของคุณ และคุณค่าของคุณไม่ได้ถูกกำหนดโดยปริมาณผลลัพธ์ที่ทำงานออกมา ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดการทำงานนี้อาจมีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ที่มีการติดแฮชแท็ก #tangping (ถ่างผิง) ที่แปลว่านอนราบ เพื่อใช้แสดงการต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานหนักแล้วไม่ได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่า จึงเป็นสาเหตุให้คนรุ่นใหม่เลิกพยายามกับการทุ่มเททำงานที่ไร้ความหมาย
ทำไมคนรุ่นใหม่จึงมีแนวคิด Quiet Quitting
แนวคิด Quiet Quitting มักเกิดขึ้นกับพนักงานส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่ม Gen Z และมิลเลเนียล เพราะความยืดหยุ่นและสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมีความขัดแย้งกัน และอาจเกิดจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบมากมาย ทั้งยังมีตัวอย่างบทเรียนจากคนรุ่นก่อนๆ ที่ทำงานอย่างหนักจนสูญเสียความสุขและสูญเสียสมดุลในชีวิต
ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีการเปรียบเทียบข้อมูลสวัสดิการและผลประโยชน์ของบริษัทต่างๆ จึงมีผลสำรวจว่า กลุ่มคน Gen Z และมิลเลเนียล มีความเป็นไปได้ที่จะสมัครงานในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรกับสุขภาพจิตและมี Work – life balance มากกว่า
วิธีสังเกตว่าพนักงานกำลัง Quiet Quitting
อาการ Quiet Quitting ของพนักงานอาจเป็นคลื่นใต้น้ำที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทได้ จึงต้องสังเกตและให้ความสำคัญกับพนักงานอย่างใกล้ชิด โดยสามารถสังเกตพนักงานที่กำลัง Quiet Quitting ได้ดังนี้
- พนักงานที่ไม่มีส่วนร่วมในงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน
- พนักงานที่ทำงานเพียงให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น
- พนักงานที่ปลีกตัวออกจากเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ
- พนักงานที่ไม่สนุกกับการสนทนา กิจกรรม หรืองานอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น
- พนักงานที่เข้าร่วมประชุม แต่ไม่แสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะใด ๆ ทั้งสิ้น
- พนักงานที่มีงานเพิ่มขึ้นฉับพลันเพราะต้องเคลียร์งานให้เพื่อน
Quiet Quitting มีผลกระทบต่อการเติบโตของบริษัท
เมื่อพนักงานส่วนใหญ่มีแนวคิด Quiet Quitting มองเผินๆ อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่ก็ส่งผลกระทบต่อบริษัทหลายด้าน ทั้งด้านผลประโยชน์ที่มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าบางบริษัทกำลังเผชิญกับการสูญเสียเงินเทียบเท่ากับ 20% ของเงินเดือนประจำปีของพนักงานที่มีอาการ Quiet Quitting
ถึงแม้พนักงานจะทำงานในขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็มีผลกระทบที่ตามมาคือ การมีผลิตภาพต่ำลง เพราะพวกเขาอาจไม่มีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน การระดมความคิด และการประชุมในแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของบริษัท
อีกทั้งพนักงานผู้ที่มีอาการ Quiet Quitting มักจะเคยเป็นพนักงานที่กระตือรือร้น ทำงานหนักและได้รับการประเมินคุณค่าต่ำเกินไป จนไม่ได้รับการเอาใจใส่และมีขวัญกำลังใจที่ต่ำ ส่งผลให้ความกระตือรือร้นในการทำงานเป็นทีมลดน้อยลง
สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานและนำไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่น่าพึงพอใจได้ นอกจากนี้อาจมีผลกระทบในเรื่องความน่าเชื่อถือจากมุมมองของบุคคลภายนอก ที่มองว่าบริษัทขาดความเป็นมิตร ความยืดหยุ่นและสมดุลในการทำงานให้กับพนักงาน
บริษัทจะหาจุดตรงกลางระหว่างพนักงานและองค์กรได้อย่างไร
บริษัทไม่ควรนิ่งนอนใจกับพนักงานที่มีแนวคิด Quiet Quitting เพราะจะส่งผลต่อการเติบโตของบริษัท ดังนั้น จึงควรหาวิธีรับมือและปรับความเข้าใจ หาจุดตรงกลางที่สามารถเป็นประโยชน์แก่ทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้แนวโน้ม Quiet Quitting กลายเป็นภัยเงียบในบริษัท และสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานมีการทุ่มเทความพยายามให้กับงานมากขึ้น
กำหนดงาน หรือหน้าที่หลักของพนักงานให้ชัดเจน
การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของพนักงานอย่างชัดเจน จะทำให้พนักงานรู้ขอบเขตหน้าที่ของตน รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำและหน้าที่เพิ่มเติมที่ควรทำมีอะไรบ้าง ซึ่งบริษัทเองก็ควรให้ความสำคัญกับการจูงใจพนักงานไปพร้อมกันกับการปล่อยให้พนักงานมีพื้นที่และเวลาส่วนตัวนอกเหนือจากเวลางานด้วย
รับฟังความคิดเห็น และซื้อใจพนักงาน
บริษัทต้องรับฟังความคิดเห็นและซื้อใจพนักงานให้มากขึ้น เพราะจะได้ทำความเข้าใจว่าพนักงานมีความต้องการอะไร เพื่อมอบการสนับสนุนทั้งเรื่องเวลาและทรัพยากรอย่างเต็มที่ และควรมีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในสิ่งที่พนักงานต้องการ เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมในการทำงาน นอกจากนี้ควรเตรียมสภาพแวดล้อมการทำงานให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย พร้อมที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย
สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี และสร้างสีสันแก่พนักงาน
บริษัทควรลดวัฒนธรรมการคลั่งงานให้น้อยลง เพราะจะทำให้พนักงานหมดไฟในการทำงานได้ หากบริษัทปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานให้มีความสอดคล้องกับแรงจูงใจและความต้องการของพนักงาน จะส่งผลให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นพลังมากกว่าเป็นภาระที่ต้องแบกรับ หรืออาจจัดวันสุขภาพจิตที่ให้พนักงานได้ทำกิจกรรมคลายเครียด สิ่งนี้ก็สามารถช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีและสร้างสีสันแก่พนักงานได้ด้วยเช่นกัน
วิธีป้องกันการ Quiet Quitting
วิธีป้องกันอาการ Quiet Quitting คือการทำให้พนักงานยังคงรู้สึกผูกพันและรักในองค์กร หรือรักในงานที่ทำ ไม่รู้สึกว่าการทำงานตึงเครียดจนเกินไป เช่น การหมั่นสำรวจความรู้สึกของพนักงานโดยการสอบถามหรือพูดคุยบ่อยครั้ง การให้คำแนะนำและแสดงความคิดเห็นในเชิงหาทางออก รวมถึงการส่งเสริมให้พนักงานได้มีเวลาพักผ่อนระหว่างวัน หรือส่งเสริมการลาพักร้อนของพนักงานอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการส่งข้อความหรือพูดคุยเรื่องงานนอกเวลา เป็นการสร้างพฤติกรรมการทำงานร่วมกันที่ดี มีเวลาให้พนักงานได้พักผ่อน ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมีพื้นที่ให้พนักงานได้เติบโต
Quiet Quitting เป็นลักษณะการทำงานที่เกิดขึ้นได้ในการทำงานยุคปัจจุบัน หากมีการทำงานที่หักโหมจนเกินไปนอกเหนือจากหน้าที่ที่กำหนดไว้ อีกทั้งไม่ได้รับค่าตอบแทนที่รู้สึกคุ้มค่า พนักงานในบริษัทต่างๆ ก็อาจเกิดอาการ Quiet Quitting ที่บ่งบอกถึงความเหนื่อยล้าและความรู้สึกท้อแท้ของพนักงาน ทำให้พวกเขาต้องจัดลำดับความสำคัญในชีวิตใหม่อีกครั้ง
ซึ่ง Quiet Quitting ส่งผลต่อบริษัท เพราะทำให้มีประสิทธิภาพโดยรวมลดลง ทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานได้ เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานเกิด Quiet Quitting บริษัทจึงต้องเริ่มจากการสื่อสารที่เป็นกลาง ทำความเข้าใจความต้องการ รับฟังความคิดเห็นของพนักงานอย่างจริงใจ เพื่อหาแนวทางที่เป็นจุดยอมรับร่วมกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย และทำให้ทุกคนในบริษัททำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขไปพร้อมๆ กัน