มนุษย์เงินเดือนคนไหน ที่มักจะใช้เงินแบบเดือนชนเดือนและเป็นคนที่เก็บเงินไม่อยู่ แต่ก็ยังต้องการมีเงินก้อนสำรองไว้ใช้ยามจำเป็น ลองเข้าร่วมกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ เพื่อตอนออกจากงานจะได้มีเงินสำรองไว้ใช้ แล้วกองทุนสํารองเลี้ยงชีพคืออะไร 0ต้องวางแผนอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับรายจ่าย มาศึกษาไปพร้อมกันได้ในบทความ
Table of Contents
กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ คืออะไร
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือสวัสดิการอย่างหนึ่งที่นายจ้างเสนอให้แก่ลูกจ้าง เป็นการออมเงินเพื่อใช้ในช่วงเวลาหลังการเกษียณหรือหลังลาออกจากงาน เหมาะสำหรับผู้ที่เก็บเงินไม่อยู่ มีเท่าไรใช้หมด ดังนั้นการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงสามารถช่วยให้ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเงินในช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้จากการทำงานในอนาคต
องค์ประกอบของกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีองค์ประกอบ 3 อย่างที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน ดังนี้
- เงินสะสม ที่นายจ้างจะหักจากเงินเดือน 2%-15% ตามความสมัครใจของลูกจ้าง
- เงินสมทบ ที่นายจ้างจะทบเข้าไปพร้อมเงินสะสม 2%-15% ของเงินเดือน
- ผลประโยชน์ของเงินสำรองเลี้ยงชีพ คือผลตอบแทนจากการลงทุนที่บริษัทบริหารจัดการ
กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ มีประโยชน์อย่างไร
เงินสะสมกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ คือกองทุนที่มีไว้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างในช่วงชีวิตหลังการเกษียณหรือช่วงที่ออกจากงาน นอกจากจะมีเงินก้อนไว้ใช้แล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ ดังนี้
ช่วยสร้างวินัยในการออมเงิน
เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะกำหนดให้ทั้งลูกจ้าง และนายจ้างต้องเงินนำส่วนหนึ่งของรายได้มาสมทบเข้ากองทุน การสมทบที่บังคับนี้จะช่วยปลูกฝังนิสัยการออมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างฐานะทางการเงินที่มั่นคง และเป็นการออมแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากในการออม และไม่ต้องโอนเงินด้วยตนเอง จึงลดโอกาสที่จะผัดวันประกันพรุ่งได้
ต่อยอดเป็นกำไรจากเงินลงทุนได้
ประโยชน์ของกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ที่สำคัญคือการต่อยอดจากเงินทุนให้เป็นกำไรได้ โดยการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะมีศักยภาพในการเติบโตในตามกาลเวลา ซึ่งอาจนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคารแบบดั้งเดิม
- การจัดสรรสินทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่มีกลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ที่หลากหลาย
- การลงทุนในหุ้น หุ้นมีศักยภาพในการเติบโต เมื่อบริษัทประสบความสำเร็จ ก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นไปด้วย
- การลงทุนในพันธบัตร พันธบัตรมักมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้น ทำให้มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่มั่นคง
- การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าตามเวลา และสามารถสร้างรายได้จากค่าเช่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางกองทุนสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระจายพอร์ตการลงทุน และเพิ่มผลตอบแทนได้
มีผู้เชี่ยวชาญคอยบริหารเงินให้
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริหารโดยผู้เชี่ยวชาญที่คอยติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนถูกดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ รวมไปถึงการตัดสินใจลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน
นำไปลดหย่อนภาษีได้
เงินสะสมกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ คือ เงินจำนวนมากที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การยกเว้นภาษีจากการสมทบ และการถอนเงิน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ลูกจ้างเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น ทั้งนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษี สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว
จะได้รับเงินกองทุนสํารองเลี้ยงชีพเมื่อไร
โดยทั่วไปแล้วการได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะสิ้นสุดการเป็นสมาชิก และเกิดขึ้นในสถานการณ์ ดังนี้
- การเกษียณอายุ เมื่อลูกจ้างเกษียณตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างสามารถขอรับเงินสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อใช้ในการเลี้ยงชีพหลังการเกษียณอายุ
- การลาออก หรือการย้ายงาน ในบางกรณี ลูกจ้างจะมีสิทธิ์ในการถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลาออกจากงานหรือย้ายงาน แต่ในบางกรณีก็อาจมีเงื่อนไขเฉพาะที่ต้องปฏิบัติตามก่อนที่จะสามารถถอนเงินได้
- สถานการณ์ฉุกเฉิน บางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจมีนโยบายในการให้เงินในกรณีฉุกเฉินที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น การเป็นโรคร้ายแรง การเสียชีวิต หรือเหตุอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบ
ทั้งนี้ยังสามารถเช็กสถานะการขอเงินทุนเลี้ยงชีพทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของสถาบันการลงทุนที่ได้ไปลงทุนไว้
การวางแผนกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ
การวางแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนมีเงินเก็บ มาดูขั้นตอนที่คุณสามารถทำเพื่อวางแผนกองทุนได้ ดังนี้
- กำหนดเป้าหมาย เพื่อประเมินความต้องการทางการเงินในวัยเกษียณ โดยพิจารณาจากค่าครองชีพที่คาดการณ์ไว้ และระยะเวลาที่คาดว่าจะเกษียณ ตั้งเป้าหมายการออมที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงิน
- เลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ศึกษาและเปรียบเทียบกองทุนต่างๆ ที่นายจ้างเสนอ และพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียม ผลการดำเนินงาน และระดับความเสี่ยง
- กำหนดอัตราการออม โดยเริ่มต้นด้วยการออมขั้นต่ำที่กำหนดโดยกองทุน และเพิ่มอัตราการออมเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น หรือเมื่อใกล้ถึงวัยเกษียณ
- จัดสรรสินทรัพย์ เลือกการจัดสรรสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงและระยะเวลาที่เหลือจนถึงวัยเกษียณ อีกทั้งต้องพิจารณาการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ ก่อนตัดสินใจ
- ปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน ตรวจสอบและปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนเป็นประจำเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และระดับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจำเป็นต้องเพิ่ม หรือลดการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไป
- ติดตามผลการดำเนินงาน ตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การเช็กเงินในกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ
เหตุผลที่ต้องเช็กยอดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะจํานวนเงินในบัญชีกองทุนเลี้ยงชีพของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ซึ่งมีผลจากหลายปัจจัย เช่น อายุปัจจุบัน อายุเกษียณ รายได้ปัจจุบัน อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ อัตราการสะสมเงิน อัตราการเสริมเงิน และผลตอบแทนจากการลงทุนต่างๆ อนาคตของเรา โดยในทุกๆ 6 เดือน บลจ.จะส่ง “ใบแจ้งยอดเงินของสมาชิก” มาถึงที่อยู่ทางไปรษณีย์ หรือสามารถเข้าไปตรวจสอบผ่านช่องทางออนไลน์ของ บลจ.ได้
วิธีคำนวณภาษีกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ
การคำนวณภาษีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือการที่เงินยังคงอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะไม่ถูกนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี แต่เมื่อมีการถอนเงินออกจากกองทุน เงินดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
- เงินสะสมของลูกจ้าง
- ผลประโยชน์ของเงินสะสมของลูกจ้าง
- เงินสมทบของนายจ้าง
- ผลประโยชน์ของเงินสมทบของนายจ้าง
เฉพาะเงินส่วนที่ (1) เท่านั้นที่จะไม่ถูกนำไปคำนวณภาษี ส่วนที่เหลือ จะถูกนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี
กรณีรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะแบ่งได้เป็น 3 กรณี ดังนี้
- รับเงินเนื่องจากเกษียณ
- หากอายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี เงินส่วนที่ (2)-(4) จะได้รับยกเว้นการนำไปคำนวณภาษีเงินได้
- หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว ต้องนำเงินส่วนที่ (2)-(4) มาคำนวณ
- รับเงินเนื่องจากลาออกจากกองทุน โดยไม่ลาออกจากงาน ต้องนำเงินส่วนที่ (2)-(4) ที่ได้รับ มาคำนวณภาษี
- รับเงินเนื่องจากออกจากงาน
- หากบริษัทใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินที่โอนไปจะไม่ถูกนำมาคำนวณภาษีเงินได้
- หากบริษัทใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถขอคงเงินไว้ในกองทุนเดิมหรือโอนไปยัง RMF for PVD ได้
การคำนวณภาษีเมื่อถอนเงินออกทั้งหมด
- กรณีสมาชิกกองทุนมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี เงินในส่วน (2)-(4) จะถูกนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี
- กรณีสมาชิกมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถเลือกได้ 2 แบบ ดังนี้
- นำเงินส่วนที่ (2)-(4) ไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณภาษี
- สามารถคำนวณแยกได้
- ขั้นที่ 1: นำ 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน แล้วนำผลลัพธ์ไปลบหักออกจากเงินส่วนที่ (2)-(4)
- ขั้นที่ 2: เงินที่เหลือจากขั้นที่ 1 หักออกอีกครึ่งหนึ่ง แล้วนำไปคำนวณภาษี
สรุป
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือกองทุนที่สร้างขึ้นโดยบริษัทหรือองค์กร เป็นอีกหนึ่งวิธีการออมเงินสำหรับลูกจ้างหรือพนักงานที่ทำงานในองค์กรนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วเป็นการจัดเตรียมเงินสำหรับเวลาที่ลูกจ้าง เกษียณอายุ หรือออกจากงาน นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการสร้างความมั่นคงในอนาคตของพนักงานด้วย เหมาะสำหรับมนุษเงินเดือนที่เก็บเงินไม่อยู่ และอยากมีเงินก้อนไว้ใช้เมื่อไม่มีรายได้