รวม 7 เทคนิคการ Pitching ที่ทุกคนควรรู้!

เทคนิคการ pitching

สารบัญ

ในปัจจุบันมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยแต่ละธุรกิจนั้นต้องการเงินทุนไปพัฒนาสินค้า หรือบริการของตนเอง เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เจริญเติบโต ดังนั้น บริษัทสตาร์ทอัพแต่ละแห่งจึงต้องนำเสนอธุรกิจของตนเอง เพื่อให้เกิดการร่วมทุน จากนักลงทุน หรือเรียกว่าการ Pitching

การ Pitching คือ การนำเสนอไอเดีย หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อขายคอนเซ็ปต์ของธุรกิจให้นักลงทุน หรือผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมทุน ส่งผลให้มีการแข่งขันที่สูง ดังนั้น ในบทความนี้ได้ทำการรวบรวม 7 เทคนิคการ Pitching ที่ช่วยให้การนำเสนอของคุณถูกใจนักลงทุนมากขึ้น จะมีเทคนิคอะไรบ้าง และสามารถนำไปปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ไปดูกันเลย!

การ pitching คืออะไร

การ Pitching คืออะไร ทำอย่างไรให้ได้ใจนักลงทุน

ธุรกิจสตาร์ทอัพหลายๆ แห่งอาจจะรู้จักการ Pitching กันเป็นอย่างดี เพราะว่ามีประสบการณ์ในการนำเสนอมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งการ Pitching คือ เวทีที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือบริษัทต่างๆ ได้นำเสนอไอเดียสินค้า หรือบริการของตนเอง เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการ Pitching ยังเป็นการพูดโน้มน้าวให้นักลงทุนเกิดความสนใจ และเข้ามาร่วมทุน หรือซื้อผลงานไปผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยการ Pitching นั้นมีทั้งการนำเสนอแบบเดี่ยว และแบบมีคู่แข่ง จึงทำให้มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ผู้ที่นำเสนอจะต้องทำให้การ Pitching นั้นมีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการพูด ระดับภาษาที่ใช้ น้ำเสียงในการพูด หรือการออกแบบสไลด์ เพื่อที่จะพูดให้นักลงทุนเกิดความสนใจภายใต้ระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด

เทคนิคการ pitchimg ให้น่าสนใจ

7 เทคนิคการ Pitching ทำอย่างไรให้น่าสนใจ

การ Pitching คือ การนำเสนอสินค้า หรือบริการ เพื่อให้เกิดการร่วมทุน โดยรูปแบบการ Pitching นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ การ Pitching แบบเดี่ยว และการ Pitching ที่ต้องแข่งขันกับทีมอื่นๆ ดังนั้นผู้นำเสนอจะต้องทำให้ผลงานของตนเองมีความโดดเด่น และเกิดความน่าสนใจมากที่สุด ซึ่ง 7 เทคนิคการ Pitching ที่สามารถช่วยให้การนำเสนอของคุณมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น มีดังนี้

1. ออกแบบสไลด์ให้ดี

สไลด์ เป็นที่ต้องใช้ในการนำเสนอแก่ผู้ฟัง และหลายๆ คนอาจจะเจอปัญหาผู้ฟังไม่ให้ความสนใจกับสิ่งที่นำเสนอ เพราะสไลด์ไม่มีความน่าสนใจ ดังนั้น การออกแบบสไลด์ให้มีความน่าสนใจ โดดเด่น และเข้าใจง่าย ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้โทนสี การเลือกใช้ฟอนต์ที่อ่านง่าย การใส่ภาพ และการใช้ขนาดตัวอักษรให้มีความเหมาะสม ซึ่งการออกแบบสไลด์ที่ดีนั้นเป็นอีกเทคนิคการ Pitching ที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการนำเสนอได้อีกด้วย

2. เนื้อหามีความกระชับ

การ Pitching นั้นมีเวลาในการนำเสนอไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะมีเวลาเพียงทีมละ 3-5 นาทีเท่านั้น แต่จะไม่รวมกับเวลาในการตอบคำถาม ดังนั้น ผู้พูดจะต้องบริหารเวลาที่มีอย่างจำกัดให้ดี และเทคนิคการ Pitching ที่สำคัญ คือ พูดให้กระชับ เข้าใจง่าย และไม่พูดยืดเยื้อ แต่จำเป็นที่จะต้องพูดประเด็นที่สำคัญให้ครบ ซึ่งหัวข้อหลักๆ ที่ควรมีในการนำเสนอ คือ ปัญหาที่ต้องการแก้ แนวทางในการแก้ไข ผลลัพธ์ที่ได้ และจุดแข็ง เพื่อให้ผู้ลงทุนมองเห็นภาพรวมของธุรกิจมากยิ่งขึ้น

3. ใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย

การเลือกใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย เป็นอีกเทคนิคการ Pitching ที่มีความสำคัญ สามารถทำได้โดยเลือกใช้คำ และระดับภาษาที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะการ Pitching ที่มีผู้ฟังที่หลากหลาย จึงต้องเลือกใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะคิดว่าการใช้ศัพท์แสลง หรือคำศัพท์เฉพาะวงการ จะทำให้ดูมีความรู้ แต่ความจริงนั้นการใช้คำเหล่านี้จะทำให้ผู้ฟังที่ไม่ได้อยู่ในวงการนั้นๆ เข้าใจยาก และอาจหยุดฟัง หรือไม่สนใจไอเดียของคุณได้ นอกจากการเลือกใช้คำที่เข้าใจง่ายแล้ว ยังควรนำเสนอขั้นตอนการใช้งานเฉพาะขั้นตอนที่สำคัญ เพียง 2-3 ขั้นตอนเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความซับซ้อนในการนำเสนอ และไม่เสียเวลาในการนำเสนอในส่วนนี้มากจนเกินไป

4. นำเสนอตัวเลขในธุรกิจ

การนำเสนอตัวเลขในธุรกิจ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเทคนิคการ Pitchingที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขกลุ่มลูกค้า ค่าใช้จ่ายในธุรกิจ กำไรที่คาดว่าจะได้ในอนาคต และจำนวนเงินทุนที่ต้องการจากนักลงทุน ซึ่งควรเลือกใส่เฉพาะตัวเลขที่มีความสำคัญเท่านั้น เพื่อไม่ให้นักลงทุนเกิดความสับสน และช่วยให้ผู้ฟังสามารถจำเฉพาะส่วนที่สำคัญได้

5. ตั้งคีย์เวิร์ดที่อยากให้คนจำได้

สำหรับการ Pitching นั้นมีธุรกิจ และบริษัทสตาร์ทอัพหลากหลายแห่งได้เข้าร่วมการนำเสนอไอเดียสินค้า และบริการของตนเอง ดังนั้น การที่จะนำเสนอให้ธุรกิจของตนเองเป็นที่จดจำในจำนวนธุรกิจที่มากมาย จะต้องสร้างคีย์เวิร์ดที่ทำให้ผู้ฟังสามารถจดจำเกี่ยวกับธุรกิจของตนเองให้ได้ ซึ่งสามารถเลือกคีย์เวิร์ดจากจุดแข็งที่มี และในระหว่างที่ทำการ Pitching นั้นให้โฟกัสไปที่จุดที่นำมาใช้เป็นคีย์เวิร์ดให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังสามารถจดจำได้ง่ายขึ้น

6. ใช้ Storytelling ประกอบการ Pitching

การเล่าเรื่อง หรือ Storytelling ถือว่าเป็นเทคนิคการ Pitching ที่นำประสบการณ์จริงมาถ่ายทอดให้ผู้ฟังนั้นรู้สึกร่วมไปกับเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังสามารถจดจำคุณได้มากกว่าการนำเสนอข้อมูลเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญ คือ ควรเลือกเล่าเรื่องที่มีความน่าสนใจ และควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้โดนใจผู้ฟัง และผู้ลงทุนมากที่สุด

7. มีพลังในการพูด

น้ำเสียง เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการนำเสนอ ถ้าหากผู้พูดต้องการให้ผู้ฟังสนใจ ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่มีพลัง และสื่อถึง Passion ของตนเองในการนำเสนอให้ผู้ฟังรับรู้ได้ ซึ่งเทคนิคการ Pitching นี้จะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกคล้อยตาม นอกจากนั้นผู้ฟังยังสามารถรับรู้ถึงพลังที่ได้สื่อสารออกไป แถมยังส่งผลให้อยากสนับสนุนงานของคุณมากขึ้นอีกด้วย

การเตรียมตัวก่อน pitching

สิ่งที่ควรมีในการ Pitching คืออะไร

สิ่งที่ควรมีในการ Pitching คือ ปัญหาที่เกิดขึ้น การแก้ไขปัญหา และแผนธุรกิจ พร้อมเสนอทีมงานที่มีความรู้ และความสามารถ และช่วง Q&A เพื่อให้ผู้ฟังได้ซักถามถึงข้อสงสัยต่างๆ โดยแต่ละสิ่งมีรายละเอียด ดังนี้

• ปัญหาที่เกิดขึ้น

สิ่งแรกที่ควรมีในการ Pitching คือ การนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น ในส่วนนี้ผู้พูดจะต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกได้ว่าปัญหานี้มีอยู่จริง และกำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ทุกวัน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนั้นจะต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกได้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญ และถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยใช้ข้อมูลทางสถิติ บทสัมภาษณ์เชิงลึก หรือการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือ และที่สำคัญ คือ ปัญหานี้จะต้องเป็นปัญหาที่สามารถสร้างธุรกิจได้ และมีกลุ่มลูกค้าที่มากพอด้วย ซึ่งผู้พูดจะต้องนำเสนอปัญหาให้มีความน่าสนใจ และโน้มน้าวให้ผู้ฟังได้สัมผัสถึงปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วม และอยากจะแก้ไขปัญหานั้นไปกับคุณ

• การแก้ไขปัญหา

สิ่งต่อไปที่ควรมีในการ Pitching คือ การแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้พูดจะได้นำเสนอไอเดีย และแนวทางธุรกิจของตนเองว่าสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่ได้นำเสนอไปข้างต้นได้อย่างไร และในส่วนนี้ผู้พูดจะต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า ไอเดียที่ได้นำเสนอไปนั้นสามารถทำได้จริง พร้อมทั้งบอกจุดแข็งของธุรกิจตนเองว่าต่างจากที่อื่นอย่างไร เพื่อให้นักลงทุนนั้นสนใจธุรกิจของคุณ และสามารถตัดสินใจในการลงทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

• แผนธุรกิจ

แผนธุรกิจ เป็นส่วนที่จะพูดถึงกลยุทธ์ทางการตลาด พร้อมทั้งนำเสนอความสามารถในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการบอกถึงจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ อัตราการเติบโตของธุรกิจ ผลตอบรับ และความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อแสดงให้เห็นว่าธุรกิจสามารถเติบโต และสามารถสร้างกำไรเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต

• ทีมงาน

การกล่าวถึงทีมงานที่มีความรู้ และความสามารถ ถือว่าเป็นอีกเทคนิคการ Pitching ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยอธิบายว่าทีมงานของคุณนั้นมีความสามารถเหมาะสมกับธุรกิจมากแค่ไหน และมีจุดแข็งอย่างไร ถ้าหากคนในทีมของคุณยิ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่คุณทำเป็นพิเศษ สามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของคุณได้ เพียงแค่อธิบายเกี่ยวกับความสามารถ และประสบการณ์ที่ผ่านมาของทีมงานคร่าวๆ เพื่อให้ผู้ฟัง และนักลงทุนได้รู้ทีมงานของคุณว่ามีจุดเด่นอะไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้สามารถส่งผลให้การตัดสินใจร่วมลงทุนได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย

• ช่วง Q&A

สำหรับช่วง Q&A เป็นช่วงที่ผู้พูดจะต้องตอบคำถามจากผู้ฟัง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่มีความสำคัญ เพราะว่าผู้พูดบางคนนั้นมีการนำเสนอที่ดี และมีความน่าสนใจ แต่ไม่สามารถตอบคำถามที่ผู้ฟังถามได้ โดยในช่วงการตอบคำถามนั้นทางทีมงานควรทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้มากพอสมควร เช่น ศึกษาข้อมูลในธุรกิจที่ทำในเชิงลึก เพื่อที่จะได้อธิบาย และตอบข้อสงสัยของผู้ฟังได้ครบทุกประเด็น ซึ่งในช่วงนี้จะมีคำถามที่หลากหลาย อย่างเช่น ทำไมถึงควรเลือกคุณ? ธุรกิจของคุณแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร? หรือจุดแข็ง และจุดอ่อนของธุรกิจคุณมีอะไรบ้าง เป็นต้น ดังนั้น ทีมงานทุกคนจึงควรเตรียมตัวให้พร้อม และควรตอบด้วยความมั่นใจ

การเรียนรู้ก่อนทำการ pitching

สิ่งที่ควรเรียนรู้ก่อนลงสนาม Pitching

นอกจากเทคนิคการ Pitching ที่จะช่วยให้การนำเสนอของคุณมีความน่าสนใจมากขึ้นแล้ว การเตรียมตัวให้พร้อม ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญเช่นกัน เพราะคุณจะได้ทำการวางแผน และเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อลดการเกิดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด และสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพมือใหม่ที่ยังมีประสบการณ์น้อย ควรเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ก่อนลงสนามจริง เพื่อให้การ Pitching มีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยสิ่งที่ควรเรียนรู้ก่อนลงสนาม มีดังนี้

• ระยะเวลาในการ Pitching

ระยะเวลาในการ Pitching เป็นสิ่งที่ควรรู้ไว้ทั้งเรื่องระยะเวลาในการนำเสนอ และลำดับในการนำเสนอ เพื่อที่จะได้วางกลยุทธ์ และควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ให้ดี เพราะว่าคณะกรรมการ และผู้ฟังบางท่านอาจมีขีดจำกัดในการรับรู้ข้อมูล และถ้าหากคุณเป็นทีมท้ายๆ ในการนำเสนอ จะต้องทำการวางแผน เพื่อดึงดูดผู้ฟังให้สนใจในการนำเสนอของคุณ และที่สำคัญ คือ ควรใช้เวลาในการตอบคำถามให้มากกว่าเวลาในการนำเสนอ ซึ่งถือว่าเป็นอีกเทคนิคการ Pitching เพราะช่วงเวลาในการตอบคำถามนั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาที่คุณจะได้พูดคุยกับผู้ฟัง และนักลงทุน พร้อมกับรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจของคุณได้

• มีเป้าหมายที่ชัดเจน

การมีเป้าหมายอย่างชัดเจน จะช่วยให้คุณรู้ว่าควรทำอะไร และทำไปเพื่ออะไร รวมถึงการ Pitching แต่ละครั้งด้วย เพราะว่าทางทีมงานจะต้องวางแผนว่าในการนำเสนอแต่ละครั้งนั้นมีจุดประสงค์เพื่ออะไร และคาดหวังอะไรจากการ Pitching เพื่อที่จะได้วางแผนในการทำงานให้ตรงกับเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

• จุดประสงค์หลัง Pitching

ก่อนที่จะคาดหวังการตอบรับของผู้ฟังหลังจากนำเสนอจบ ผู้พูดจะต้องรู้ก่อนว่าตนเองนั้นอยู่ในระดับใด เป็นที่รู้จักมากน้อยแค่ไหน เคยร่วมงานกับนักลงทุนมาบ้างแล้วหรือยัง หรือไม่เคยเป็นที่รู้จักเลย เมื่อประเมินระดับของตนเองได้แล้ว ก็จะช่วยให้คุณตั้งจุดประสงค์หลังการ Pitching ได้ง่ายขึ้น ว่าหลังจากจบการนำเสนอแล้ว จะได้รับการตอบรับของผู้ฟังอย่างไร และจะต้องหาแนวทางแบบไหน เพื่อพัฒนาตนเองให้ก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้นให้ได้

• รู้จักกลุ่มผู้ฟัง

การนำเสนอไอเดียธุรกิจในแต่ละครั้ง ผู้พูดจะต้องรู้จักกลุ่มผู้ฟังให้ชัดเจนว่าผู้ฟังเป็นใคร เช่น นักลงทุน ลูกค้า หรือกรรมการตัดสิน เพราะว่าความต้องการของผู้ฟังในแต่ละกลุ่มนั้นแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการตีความของผู้ฟัง ผลตอบแทนที่ผู้ฟังจะได้รับ หรือประเภทของคนที่ต่างกัน ถ้าหากผู้พูดรู้จักว่ากลุ่มผู้ฟังเป็นใคร ก็สามารถเลือกการนำเสนอให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ฟังให้ได้มากที่สุด

เรียนรู้เทคนิคการ pitching

เคล็ดลับ Pitching ให้คล่อง

การ Pitching คือ การนำเสนอไอเดีย จึงจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการฝึกฝน เพื่อให้มีทักษะการนำเสนอที่ดีขึ้น และถ้าหากได้ฝึกฝนบ่อยๆ ก็จะทำให้การนำเสนอในครั้งต่อๆ ไปนั้นดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งเคล็ดลับในการฝึก pitching มีเพียงแค่ 2 หลักการง่ายๆ ดังนี้

• ฝึกให้บ่อย

การฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยทำให้เกิดความชำนาญมากขึ้น โดยการฝึกฝนการ Pitching นั้นสามารถฝึกบ่อยๆ ได้ด้วยการอัดวิดีโอขณะพูดไปด้วย เพราะจะช่วยให้ผู้พูดเห็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้ผู้พูดแก้ไข และปรับปรุงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด และสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

• หาเวทีในการ Pitching ให้มากขึ้น

การฝึกซ้อมย่อมไม่เหมือนการลงสนามจริง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ เวลาที่มีจำกัด คู่แข่ง และผู้ฟังจำนวนมาก รวมถึงการตอบคำถามด้วย จึงทำให้การขึ้นเวทีในการ Pitching ครั้งแรกๆ นั้นอาจเกิดความกังวล และมีความประหม่า แต่ถ้าหากได้ Pitching บนเวทีต่างๆ บ่อยมากเท่าไร ผู้พูดก็จะได้เจอกับผู้เชี่ยวชาญในวงการนั้นๆ และเหล่าคณะกรรมการมากขึ้น ก็จะช่วยให้ผู้พูดได้เรียนรู้จากคำถาม และคำแนะนำที่สามารถนำมาพัฒนากับธุรกิจของตนเอง และการนำเสนอในครั้งต่อๆ ไปได้

การ Pitching คือ การนำเสนอสินค้า หรือบริการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ฟังเข้ามาร่วมทุน หรือว่าเกิดความสนใจในธุรกิจนั้นๆ ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายเวทีที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพได้เข้ามาทำการ Pitching กัน เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประตูสู่ความสำเร็จ แต่ว่าก็มีหลายๆ ไอเดียที่ถูกปัดตกไปอย่างน่าเสียดาย เพราะขาดการเตรียมพร้อม หรือมีการนำเสนอที่ไม่น่าสนใจ จนทำให้พลาดโอกาสไป ซึ่งเทคนิคการ Pitching ที่สำคัญจะต้องมีความกระชับ เพราะต้องนำเสนอไอเดียธุรกิจภายในระยะเวลาที่จำกัด นอกจากนั้นยังควรนำเสนออย่างตรงประเด็น ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และต้องใช้คำพูดที่มีสามารถสื่อถึงผู้ฟังให้รู้สึกไปกับคุณได้ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ และช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกคล้อยตาม แถมยังช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจร่วมทุนได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

23 สิงหาคม 2024
23 สิงหาคม 2024
22 สิงหาคม 2024
05 กรกฎาคม 2024
05 กรกฎาคม 2024
05 กรกฎาคม 2024

เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้แบ่งปันข้อมูลดี ๆ ให้กับคุณ

หากคุณต้องการ เช่าออฟฟิศ สามารถติดต่อเราได้เลย