เทคนิคลับ จัดการขยะอย่างไรให้เป็นเรื่องง่าย

วิธีแยกขยะ

ในแต่ละปีปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีขยะถูกทิ้งในปริมาณมากเกือบ 1 ใน 5 ของจำนวนขยะทั้งประเทศ ปริมาณขยะที่มากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการขยายตัวของเมือง จำนวนประชากร รวมไปถึงส่วนอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ปริมาณการบริโภค ฯลฯ

ซึ่งจริงๆ แล้ว การกำจัดขยะต่างๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เช่น ขยะจากภายในบ้านของคุณเอง หากต้องนำไปทิ้งโดยไม่มีวิธีแยกขยะ ทำให้ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษ สารปนเปื้อนให้กับสภาพแวดล้อม จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสังคมโดยรวม

ดังนั้น การแยกขยะก่อนที่จะทิ้ง จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ เพราะจะช่วยให้การกำจัดขยะเป็นเรื่องง่าย ช่วยลดมลภาวะให้กับโลก แต่วิธีแยกขยะที่ถูกต้อง ต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง ไปดูพร้อมๆ กันเลย!

รู้จักประเภทของขยะ และวิธีการแยก

รู้จักประเภทของขยะ และวิธีการแยก

ก่อนที่เราจะเริ่มต้นแยกขยะนั้น ควรจะรู้จักกับขยะแต่ละประเภทกันก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะทำการจัดแจงวิธีแยกขยะแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้อง โดยเราสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ขยะทั่วไป หมายถึง ขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ หรือย่อยสลายได้ยาก แต่ไม่เป็นอันตราย หรือสร้างมลพิษใดๆ และไม่คุ้มค่าที่จะนำไปรีไซเคิล ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ซองขนม กระดาษชานอ้อย เสื้อผ้า ของใช้ หรือภาชนะต่างๆ 
  • ประโยชน์จากการที่แยกขยะทั่วไป คือ ทำให้สามารถคัดแยกชนิดของขยะ เพื่อการจัดการที่ง่ายมากขึ้น 
  1. ขยะรีไซเคิล ขยะแห้ง หมายถึงขยะที่สามารถนำไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เช่น กระป๋องน้ำอัดลม ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว ลังกระดาษ กล่องกระดาษ กระดาษ เป็นต้น
  • ขยะรีไซเคิล ควรทำความสะอาดก่อนจะนำไปคัดแยกขยะ เพื่อทิ้งให้เรียบร้อย อย่างเช่น ขวดน้ำ ควรเทน้ำออกให้หมดก่อน แล้วล้างขวดให้สะอาด หากเป็นกล่องนมก็ควรตัดกล่อง แล้วทำความสะอาดล้างนมออกให้หมด ก่อนนำไปทิ้ง
  • ประโยชน์ของขยะรีไซเคิล คือ สามารถนำไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ นำไปผลิตขาเทียม ผลิตหลอดไฟ ผลิตหลังคารีไซเคิล ฯลฯ
  1. ขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก หมายถึงขยะที่เน่าเสียได้ และสามารถที่จะย่อยสลายเองได้ ในเวลาอันรวดเร็วด้วยเช่นกัน เช่นพวกเศษผักเศษอาหาร เปลือกผลไม้ เศษใบไม้ เนื้อสัตว์ต่างๆ 
  • ประโยชน์ของขยะอินทรีย์ คือ สามารถนำไปทำปุ๋ยหมักสำหรับปลูกต้นไม้ได้
  1. ขยะอันตราย หมายถึงขยะที่มีส่วนประกอบ หรือมีสารปนเปื้อน เป็นวัตถุอันตรายจำพวกสารพิษ หรือวัตถุที่มีสารกัมมันตรังสี หรือเป็นวัตถุกัดกร่อน เช่น กระป๋องสีสเปรย์ ขวดยาฆ่าแมลง ยาที่หมดอายุ ถ่านไฟฉาย ถ่านอัลคาไลน์ แบตเตอรี หลอดไฟ สายไฟ วัตถุไวไฟต่างๆ ซึ่งขยะอันตรายจะมีวิธีแยกขยะ เพื่อกำจัดไม่ให้สารพิษรั่วไหล หรือซึมลงพื้นดิน หรือลงในแหล่งน้ำ

หลังจากที่รู้จักประเภทของขยะแล้วว่า ขยะชนิดไหนควรเริ่มจัดการอย่างไร ทีนี้มาเริ่มต้นการคัดแยกขยะในบ้านกันเลยดีกว่า วิธีแยกขยะทั้ง 4 ประเภท สามารถทำได้ดังนี้

  • ขยะทั่วไป สามารถเก็บไว้รวมกันที่เดียวได้เลย
  • ขยะรีไซเคิล ต้องใช้วิธีแยกขยะแต่ละชนิด เพื่อความสะดวกในการจัดการ ขยะรีไซเคิลสามารถแยกตามประเภทได้ 4 ประเภท คือ
    • ประเภทกระดาษหนังสือพิมพ์ สมุด หนังสือเก่า กล่อง ลังกระดาษ
    • ประเภทแก้ว ขวด ก่อนคัดแยกควรทำความสะอาดภายในให้เรียบร้อยก่อน
    • ประเภทพลาสติก ให้ทำความสะอาดก่อนแล้วทำให้แบน เพื่อเป็นการประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บ ต้องแยกพลาสติกใสกับพลาสติกขุ่นออกจากกันด้วย
    • ประเภทโลหะ อโลหะ ต้องทำความสะอาดก่อนเก็บแยกเช่นกัน
  • ขยะอินทรีย์ เป็นขยะที่ย่อยสลายได้ ควรคัดแยกเศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์ ไขมันต่างๆ ออกจากเศษใบไม้ เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป คัดแยกไว้ในภาชนะที่ปิดได้
  • ขยะอันตราย ควรจัดแยกขยะประเภทนี้ออกจากขยะประเภทอื่นๆ ให้ชัดเจน และต้องแยกชนิดของขยะอันตรายอีกครั้งด้วย ห้ามเก็บปะปนกัน ควรมีภาชนะในการเก็บขยะอันตรายที่แข็งแรง มิดชิดปลอดภัย เพื่อไม่ให้สารอันตรายรั่วไหลออกมาได้

เมื่อรู้จักประเภทของขยะแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องรู้จักความหมายสีของถังขยะที่มีสีต่างๆ ที่ตั้งให้เห็นอยู่ทั่วไป เพราะวิธีแยกขยะที่ถูกต้องนั้น จะต้องทิ้งขยะลงถังขยะให้ถูกสีด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ความหมายของสีถังขยะ มีดังนี้

ถังขยะเปียก​ (สีเขียว)

ถังขยะสีเขียว เป็นถังขยะสำหรับใส่ขยะเปียก ขยะทั่วไปที่สามารถย่อยสลายในเวลาไม่นาน และเป็นขยะที่เน่าเสียได้ สามารถที่จะนำไปทำปุ๋ยหมักได้

ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน)

ถังขยะสีน้ำเงินหรือสีฟ้า เป็นถังขยะใส่ขยะทั่วไป ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิต แต่เป็นขยะที่ไม่คุ้มค่าในการนำไปรีไซเคิลอีก เช่น พวกซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก กล่องโฟมใส่อาหาร เป็นต้น

ถังขยะรีไซเคิล ​(สีเหลือง)

ถังขยะสีเหลือง เป็นถังขยะรีไซเคิล ไว้ใส่ขยะที่สามารถนำมากลับมารีไซเคิล หรือนำไปแปรรูปกลับมาใช้ได้อีกครั้ง หรือเป็นขยะที่สามารถนำไปขายเพิ่มรายได้ เช่น ขวดน้ำดื่ม กระดาษ โลหะ

ถังขยะอันตราย (สีแดง)

ถังขยะสีแดงหรือถังขยะสีเทาฝาสีส้ม เป็นถังขยะสำหรับใส่ขยะอันตราย เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตขยะประเภทนี้ เช่น ขวดสารเคมีต่างๆ ขวดสเปรย์ หลอดไฟ ขวดยา ถ่านไฟฉาย ถังยาฆ่าแมลง หรือภาชนะที่บรรจุสารอันตราย รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

ประโยชน์จากการแยกกำจัดขยะ

ประโยชน์จากการแยกกำจัดขยะ

ลดปริมาณขยะ รักษาสิ่งแวดล้อม

  • ช่วยลดปริมาณขยะลงให้เหลือแต่ขยะจริงๆ ที่ต้องนำไปกำจัดเท่านั้น เพราะเมื่อมีการแยกประเภทขยะ ก็จะทำให้จัดสรรขยะได้ง่ายว่า ขยะประเภทไหนต้องกำจัดทิ้ง ขยะประเภทไหนรีไซเคิลได้ หรือยังสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องทิ้ง
  • ลดปริมาณขยะให้น้อยลง ช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกระบวนการกำจัดขยะ เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่เก็บขยะ รถขนขยะ และคนงานในส่วนต่างๆ ก็จะลดลง ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงด้วย

ช่วยรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลพิษต่อโลก ช่วยลดโลกร้อน เพราะการกำจัดขยะส่วนใหญ่ การกำจัดขยะพลาสติกจะใช้พลังงานมาก ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสู่โลกมากขึ้น วิธีแยกขยะจึงช่วยให้การกำจัดขยะลดลง

การนำขยะกลับมาใช้ใหม่

วิธีแยกขยะ เพื่อนำขยะกลับมาใช้ใหม่ หรือการรีไซเคิล จะช่วยลดการสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากร ช่วยลดปริมาณขยะที่ล้นโลก ขยะบางชนิดนอกจากแปรรูปกลับมาใช้แล้ว ยังสามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

รู้จักกับการแยกขยะ ลดการสร้างขยะด้วยแนวคิด 3R

รู้จักกับการแยกขยะ ลดการสร้างขยะด้วยแนวคิด 3R

แต่ละปีปริมาณขยะในโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณของขยะ โดยเฉพาะการกำจัดขยะพลาสติก จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่กลับมาใช้อย่างคุ้มค่า จึงเกิดแนวความคิดลดการสร้างขยะแบบ 3R ขึ้นมา เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกัน

1.Reduce การคิดก่อนใช้และลดการใช้

เป็น 1 ในวิธีแยกขยะด้วยการลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ควบคุมปริมาณการใช้ให้พอเหมาะ ไม่ใช้เกินความจำเป็น จนเกิดขยะเพิ่มขึ้น ซึ่งการ Reduce นี้สามารถทำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เช่น

  • ใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าใส่ของ แทนการใช้ถุงพลาสติก
  • ใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนกระดาษทิชชู
  • ใช้กระติกน้ำหรือขวดน้ำที่เติมได้ แทนการซื้อน้ำขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  • ใช้ปิ่นโตหรือกล่องข้าวใส่อาหาร แทนการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม
  • ใช้อีเมลในการทำงาน เพื่อลดการใช้กระดาษ
  • หากต้องใช้กระดาษ ควรใช้งานทั้ง 2 หน้า 
  • ทำงานกับคอมพิวเตอร์แทนการทำงานบนกระดาษ
  • ส่งเอกสาร จัดเก็บเอกสาร ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แทนการเก็บเป็นแฟ้มกระดาษ\

2.Reuse การนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง

เป็นการนำของใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ จนกว่าจะใช้งานไม่ได้ เป็นการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างคุ้มค่า เพื่อช่วยลดปริมาณขยะให้มากที่สุด แถมยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากด้วย เช่น 

  • นำเสื้อผ้าหรือของใช้ที่ไม่ใช้งานแล้วไปบริจาค หรือดัดแปลงใช้ทดแทนสิ่งอื่น
  • เลือกใช้ถ่าน หรือแบตเตอรี แบบชาร์ตได้ แทนการใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง
  • ดัดแปลงของเหลือใช้นำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น กะละมัง ถัง ตะกร้าเก่า นำมาใช้ปลูกต้นไม้

3.Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่

เป็นการนำขยะแปรสภาพ หรือแปรรูป เป็นของใช้ใหม่ โดยการเข้ากระบวนการแปรรูปขยะแต่ละประเภท ให้สามารถนำออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ เช่น กล่องนมสามารถทำเก้าอี้หรือหลังคา ขวดน้ำพลาสติกทำแพลอยน้ำ กระป๋องน้ำอัดลมสามารถนำไปทำอุปกรณ์ขาเทียม เบ้าขาเทียม ฯลฯ

การกำจัดขยะมีวิธีอะไรบ้าง

การกำจัดขยะมีวิธีอะไรบ้าง

กำจัดขยะในพื้นที่ปิด

  • การหมักทำปุ๋ย (Composting) หลังจากแยกขยะประเภทโลหะ แก้ว กระเบื้อง พลาสติก หรือขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายออกแล้ว นำขยะที่เหลือไปหมักไว้ในสถานที่อากาศถ่ายเท ประมาณ 5-7 วัน เพื่อให้ขยะบางส่วนย่อยสลาย จากนั้นนำไปกองสุมไว้ในที่มีอากาศน้อย เป็นเวลา 2-4 เดือน ขยะที่เป็นสารอินทรีย์ก็จะย่อยสลายเกือบหมด สามารถนำไปทำปุ๋ยต่อได้ 
  • การเผา (Incineration) เป็นวิธีกำจัดขยะโดยการใช้เตาเผา สามารถกำจัดขยะได้รวดเร็วและกำจัดได้เกือบหมด จะเหลือแค่ขี้เถ้าและกากเล็กน้อย แต่วิธีนี้จะเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างค่อนข้างสูง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการทำระบบควบคุมมลพิษ ที่จะปล่อยออกมาทางปล่องด้วย 

การกำจัดขยะในบริเวณที่ห่างจากแหล่งน้ำและสถานที่อยู่อาศัย

  • ฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) ด้วยการนำขยะไปเทกองไว้ ในพื้นที่ที่ห่างไกลชุมชนและแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จัดวางระบบต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบระบายก๊าซ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษหรือสารตกค้าง ออกไปสู่ภายนอก สถานที่ควรตั้งอยู่ห่างไกลชุมชน เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เหมืองเก่า ฯลฯ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
  • สร้างจิตสำนึกสาธารณะ มีขยะอีกเป็นจำนวนมากที่มีวิธีแยกขยะ และกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การทิ้งขยะในที่สาธารณะ หรือขยะบางส่วนกลายเป็นสารพิษ ถูกทิ้งลงสู่แม่น้ำลำคลอง หรือในทะเล ทำให้แหล่งน้ำเกิดเน่าเสียได้ และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือเกิดการปนเปื้อนจากชุมชน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่น ที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ชนิดต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษในพื้นที่สาธารณะ จึงต้องร่วมกันดูแลไม่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ มีวิธีแยกขยะอย่างถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคและสารพิษ 
รู้จักกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแยก กำจัดขยะ

รู้จักกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแยก กำจัดขยะ

หน่วยงานกำจัดขยะจากภาครัฐ

สำหรับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องขยะ มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ดำเนินงานควบคู่กันไป และสถานที่กำจัดขยะของภาครัฐ มีอยู่ทั้งหมด 239 แห่ง และของภาคเอกชนมี 91 แห่ง ที่กระจายตามภูมิภาค

สำนักสิ่งแวดล้อม มีกองจัดการขยะ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย ของเสียที่เป็นอันตราย รวมถึงสิ่งปฏิกูล รวมทั้งการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ในการพัฒนาระบบจัดการขยะมูลฝอย ตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งการจัดการขยะ ดูแลและพัฒนามาตรการเทคโนโลยีในการจัดการขยะ ตรวจสอบควบคุมคุณภาพน้ำทิ้ง บำบัดไขมันและสิ่งปฏิกูล

หน่วยงานของเทศบาล หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของชุมชน หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ จะมีหน่วยงานเทศบาล หรือ อบต. เป็นผู้รับผิดชอบดูแลจัดการขยะ วางแผนการเก็บขยะตามบ้านชุมชน คัดแยก นำส่งไปโรงงานกำจัดขยะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของภาคเอกชน ในส่วนนี้จะมีวิธีแยกขยะอีกครั้ง เรียกว่าเป็นการคัดแยกปลายทาง

สำนักงานเขต ส่วนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร จะมีสำนักงานเขตของเขตนั้น ๆ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลจัดการเรื่องขยะในพื้นที่ ทั้งการจัดเก็บ คัดแยก และขนส่งเข้าโรงงานกำจัดขยะ

กรมอนามัย มีหน้าที่ดูแลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ ในแง่ของระบบสาธารณสุข รวมถึงการรณรงค์ลดใช้ และการกำจัดขยะพลาสติก เพื่อใช้วัสดุอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายทดแทน รวมไปถึงการแนะนำวิธีแยกขยะให้ถูกต้อง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก ลดภาระในการกำจัด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีกำจัดขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบ ลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน จะช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อน

หน่วยงานกำจัดขยะเอกชน

นอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้วยังมีภาคเอกชน ที่ดูแลเกี่ยวกับปัญหาการจัดการขยะอีกหลายแห่ง รวมทั้งสถานที่ที่เปิดรับบริจาคสิ่งของ เพื่อนำไปรีไซเคิล และในรูปแบบอื่นๆ เช่น

  • โครงการ “วน” โดยบริษัท ทีบีพีโอ จำกัด ที่รณรงค์ขอรับบริจาคถุงพลาสติก หรือภาชนะพลาสติกที่ใช้แล้ว เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่
  • บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับบริจาคกล่องเครื่องดื่ม หรือกล่องนมที่ใช้แล้ว เพื่อนำไปรีไซเคิลผลิตเป็นแผ่นหลังคา
  • โครงการหลังคาเขียว โดยบริษัทไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด รับบริจาคกล่องเครื่องดื่มและกล่องนม เพื่อนำไปรีไซเคิลผลิตเป็นแผ่นหลังคา
  • บมจ. ไทยคม รับบริจาคหลอดดูดทุกชนิดที่ล้างทำความสะอาดแล้ว เพื่อนำมาไปรีไซเคิล ผลิตเป็นหมอนหนุนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
  • มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน โดยบริษัท ปตท.สำนักงานใหญ่ รับบริจาคหลอดพลาสติกที่ใช้แล้ว เพื่อนำไปรีไซเคิล ผลิตเป็นหมอนให้กับผู้ป่วยติดเตียง
  • มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รับบริจาคโลหะ อะลูมิเนียมเกรดสูง สเตนเลสสตีล กระป๋องน้ำอัดลม เพื่อนำไปผลิตขาเทียม และเพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด

อาสาสมัคร

  • วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ รับบริจาคขวดน้ำแบบพลาสติกใส เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นจีวรพระ
  • วัดทองนพคุณ จังหวัดเพชรบุรี รับบริจาคขวดพลาสติกใส เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นสะพานกลางน้ำและทำแพ

ขยะเป็นสิ่งของเหลือใช้ ที่คนส่วนมากไม่ต้องการแล้ว แต่หากเราต่างคนต่างใช้ ต่างทิ้งขยะ โดยที่ไม่มีมีการดูแลใส่ใจ และจัดการอย่างเป็นระบบ ก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อย่างเช่น ขยะล้นโลก กำจัดได้ยาก และการกำจัดขยะนั้น ยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เพราะขยะแต่ละชิ้น จะมีประเภทที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น วิธีแยกขยะ การกำจัดขยะพลาสติก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนในสังคมต้องใส่ใจให้มากกว่าเดิม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิธีแยกขยะ คัดแยกขยะในแต่ละประเภท และการทิ้งขยะที่ถูกต้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

23 สิงหาคม 2024
23 สิงหาคม 2024
22 สิงหาคม 2024
05 กรกฎาคม 2024
05 กรกฎาคม 2024
05 กรกฎาคม 2024

เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้แบ่งปันข้อมูลดี ๆ ให้กับคุณ

หากคุณต้องการ เช่าออฟฟิศ สามารถติดต่อเราได้เลย